รีวิว Eden of the East
ในยุคสมัยใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่ระบบสมองกลอัจฉริยะมีร่วมกับการสร้างประเทศ บุคคลลึกลับในนามของ “Mr.Outsider” ได้ทำการคัดเลือกเหล่าพระผู้ช่วยทั้ง 12 คนขึ้นมา ในนามของ “Selecao” เพื่อทำหน้าที่ในการจัดการกับเงินจำนวนมหาศาลผ่านระบบ Juiz
ที่ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้อะไรก็ได้ตามใจ แต่ต้องก่อเกิดประโยชน์ต่อการกอบกู้และพัฒนาประเทศมากที่สุด เรื่องราวของ “ทาคิซาว่า อากิระ” Selecao หมายเลข 9 ที่เลือกจะลบความทรงจำของตนเองเพื่อภารกิจอะไรบางอย่าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น
ชื่ออังกฤษ : Eden of The East
ชื่อญี่ปุ่น : 東のエデン
ชื่อไทย : อีเดน ออฟ ดิ อีสท์
แนว : โรแมนติก, ระทึกขวัญ, จิตวิทยา
ผู้กำกับ : เค็นจิ คะมิยะมะ
ผลิตโดย : Production I.G
ฉายทาง : ฟูจิ ทีวี (noitaminA)
ฉายครั้งแรก : 9 เมษายน – 25 พฤษภาคม 2552
จำนวนตอน : 11 ตอน
เรื่องราวเริ่มต้นจาก “โมริมิ ซากิ” เด็กสาวที่อยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในอเมริกา เพื่อฉลองจบการศึกษาของเธอ และบังเอิญได้พบกับเด็กหนุ่มลึกลับสภาพเปลือยล่อนจ้อนที่เข้ามาช่วยเหลือ ขณะเธอกำลังมีปัญหากับตำรวจหน้าทำเนียบขาว ณ วอชิงตัน ดี.ซี.
โดยเด็กหนุ่มดังกล่าว สูญเสียความทรงจำของตนเอง มีเพียงปืนกับโทรศัพท์มือถือติดตัว พร้อมกับยอดเงินที่เหลืออยู่ประมาณ 8,200 ล้านเยน และจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เขาและเธอได้ร่วมเดินทางด้วยกัน
ด้วยการสืบร่องรอยของตนเอง ผ่านผู้ช่วย Juiz จากโทรศัพท์มือถือ (Noblesse Oblige) ที่เขามีอยู่ ซึ่งมาพร้อมกับการพบเจอกันโดยบังเอิญกับตำรวจนายหนึ่งที่มีชื่อว่า “คนโด ยูเซ” ทำให้เด็กหนุ่มค้นพบเงื่อนงำว่าตนเองอาจคือ “ทาคิซาว่า อากิระ” ผู้ที่เลือกลบความทรงจำของตนเอง
เพื่อทำภารกิจอะไรบางอย่างของ “Selecao หมายเลข 9” ซึ่งเป็นหนึ่งใน Selecao ทั้ง 12 คน ที่ได้รับหน้าที่ในจัดการกับยอดเงิน หนึ่งหมื่นล้านเยน แบบใดก็ได้ ผ่านการหักค่าใช้จ่ายจากระบบ Juiz เพื่อนำมาใช้ในการกอบกู้และช่วยเหลือพัฒนาประเทศญี่ปุ่น
โดยผู้ที่ถูกคัดเลือกจากหนึ่งใน 12 คนนี้จะถูกเรียกว่า “Supporter” ซึ่งจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้เงินของทุกคนที่เหลือ โดยบุคคลดังกล่าวจะมีเพียง Mr.Outsider ซึ่งคือเจ้าของและผู้ที่เริ่มระบบของ Selecao คนเดียวเท่านั้นที่จะรู้ว่าเขาคือใครใน 12 คนนี้
เรื่องราวดำเนินต่อไปเมื่อ ทาคิซาว่า คิดว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ถูกตั้งชื่อว่า “วันจันทร์ที่เผอเรอ” หรือ “Careless Monday” จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากผลของมิสไซล์จำนวน 10 ลูก ที่ระเบิดกลางเมืองโตเกียวในวันที่ 22 พฤศจิกายน คศ. 2010
ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการพบกันครั้งแรกของเขาและโมริมิ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เพื่อตามหาความเป็นมาของเรื่องราวทั้งหมดจาก Selecao คนอื่นๆ ที่เหลือ สู่การพบเจอกับนายตำรวจ Selecao หมายเลข 4 ที่จบลงไม่สวย และนายศัลยแพทย์ประสาท Selecao หมายเลข 5 ที่ทุ่มเทเพื่อสถาบันทางการแพทย์ในอุดมคติจนต้องจบชีวิตลง
ทาคิซาว่า จะไขเงื่อนงำปริศนาของตนเองได้หรือไม่ การเดินทางเพื่อตามหา Selecao ที่เหลือจะต้องพบเจอกับอะไร? และท้ายที่สุดแล้ว เขาจะอยู่จนจบเดิมพันที่แลกมาด้วยชีวิตนี้ได้หรือไม่นั้น? หาติดตามชมกันได้แล้ววันนี้.
รีวิว Eden of the East
ด้วยความโดดเด่นในหลายๆ ส่วนของมัน ผลงานในสังกัด Production I.G. สตูดิโอที่หลายคนเชื่อมั่นในฝีมือและคุณภาพ เพราะเคยสร้างงานที่เป็นที่จดจำมาหลายเรื่อง โดยเฉพาะ Ghost in the Shell, The Matrix, xxxHolic, คุโรมาตี้, The End of Evangelion และ Blood+
อีกทั้งยังเป็นการผนึกพลังกันของสุดยอดฝีมืออย่าง คามิยาม่า เคนจิ ผู้กำกับที่เคยฝากผลงานเด่นไว้อย่าง Ghost in the shell : Stand Alone Complex ก็ยกขบวนทีมงานมาร่วมกันสร้างอะนิเมะเรื่องนี้ แล้วก็มี อ.อุมิโนะ จิกะ ที่มาดูเรื่องการออกแบบตัวละคร ทำให้ Eden of the East กลายเป็นที่จับตามองของคออะนิเมะค่อนข้างมาก
เรื่องราวมันเริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2010 เกิดเหตุมิสไซล์จำนวน 10 ลูกถล่มญี่ปุ่นอย่างไม่ทราบที่มา และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือล้มตาย มีเพียงข่าวลือว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย มันได้ถูกตั้งชื่อให้เป็น “Careless Monday”
มันเป็นวันจันทร์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเรื่องก็แล้วกัน วันเวลาผ่านไปโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกเลย ฝันร้ายวันจันทร์ก็เริ่มๆ จะลดความน่ากลัวลงไป แต่เหตุการณ์กลับหาได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิดไม่
ความรู้สึกหลังดู
3 เดือนต่อมา สาวน้อย ซากิ โมริมิ ที่เพิ่งจบการศึกษาเดินทางไปเที่ยวอเมริกาเพื่อฉลองเรียนจบกับเพื่อนๆ แต่ก่อนกลับ เธอเลือกที่จะแยกไปเยือนทำเนียบขาวคนเดียว ด้วยความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของตนที่กำลังถูกภัยร้ายที่ไม่รู้วันคืออะไรคุกคาม เธอตั้งใจปาก้อนหินเข้าไปในทำเนียบขาว มันคงเป็นวิธีแก้เคล็ดของคนญี่ปุ่นเขาล่ะมั้ง
การทำผิดกฏหมายครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือไว้ โดยหนุ่มรูปหล่อผู้ไม่ใส่เสื้อผ้าสักชิ้น ที่มาดึงดูดความสนใจของตำรวจเอาไว้ ผู้ชายที่ซากิคิดว่า เขาจะเป็นเจ้าชายที่เธอฝันไว้หรือเปล่าคนนั้น มีเพียงปืนสั้นกับมือถือหน้าตาประหลาดในมือ แต่กลับจำกระทั่งชื่อตัวเองยังไม่ได้ ด้วยความใจดี หรืออะไรก็แล้วแต่ เธอกลับให้เสื้อคลุมและผ้าพันคอกับเขาไป
แต่แล้ว ดูเหมือนโชคชะตาจะทำให้ซากิได้พบกับเจ้าชายที่ใฝ่หา ในที่สุด ทั้งสองคนก็ต้องกลับมาพบกันอีกครั้ง แล้วก็ได้เดินทางกลับญี่ปุ่นด้วยกัน
ชายแปลกหน้าที่ไม่รู้ว่าตนเองชื่ออะไร แต่กลับจำเรื่องราวอื่นๆ ได้หมด โดยเฉพาะเรื่อง “หนัง”
เขาได้พบว่า ห้องพักของตนมีอาวุธเต็มไปหมดจนต้องสงสัยว่าตนเองเป็นใครกันแน่ หลังจากโทรไปยังปลายสายที่เรียกตัวเองว่า Juiz เขาพบว่า ตนเองกำลังอยู่ในเกมอะไรสักอย่างหนึ่งที่มีผู้เล่น 12 คน ที่จะถูกเรียกว่า “เซเลเซา” (Seleção) แต่ละคนจะได้รับเงินหมื่นล้านเยนอยู่ในมือถือ ซึ่งจะใช้เงินทำอะไรก็ได้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่นให้ดีขึ้นในแนวทางของตน การใช้เงินทุกครั้งจะต้องกระทำโดยการสั่งผ่าน Juiz คุณจะสั่งการอะไรก็ได้ ทางอีกฝั่งของสายจะรับไปแยกเป็นงานเล็กงานน้อย ทุกงานมีค่าใช้จ่ายจะมากน้อย จะถูกหักออกจากบัญชี
นอกจากนี้ เขายังพบว่า ตนเองมีพาสปอร์ตอยู่หลายใบ ชื่อหนึ่งที่เขาคิดว่าใช่ชื่อจริงของตัวเองก็คือ ทาคิซาว่า อากิระ จากการสอบถาม Juiz ทำให้เขาได้รู้ว่า เขาเป็นเซเลเซาหมายเลข 9 ที่ทำการลบความจำตัวเองส่วนหนึ่งไป แต่เหตุผลกลใดที่เขาเลือกจะลบมันนั้น ซึ่งเขาเองก็ต้องค้นหามันเช่นกัน
แต่เมื่อยิ่งค้นก็ยิ่งพบสิ่งที่แปลกประหลาดในการกระทำของตัวเขาเองก่อนลบความทรงจำ อากิระมีที่พักอาศัยเป็นห้างโทโยสึ คนบ้าอะไรจะซื้อห้างทั้งห้างมาเป็นของตัวเอง แถมยังเคยขัง NEET จำนวนสองหมื่นคนไว้ข้างในห้างนั้นด้วย
เรื่องราวการสืบค้นเสาะหาตัวตนของตัวเอง ที่มาพร้อมอำนาจสั่งการในมือ และพร้อมที่จะถูกเก็บได้ตลอดเวลา
เรื่องราวขยายวงไปเรื่อยๆ อากิระได้พบกับเซเลเซาอีกหลายคน แม้จะไม่ครบ แต่ก็พอจะเป็นเบาะแสที่ค้นไปถึงที่มาของเรื่องราวทั้งหมดได้ แต่ในช่วงของการค้นหานั้น ก็มีอีกเรื่องที่ทำให้คนดูอย่างเราๆ ได้รู้ว่า อะไรคือ
“Eden of the East”
ด้วยงานด้านภาพที่ดูสะอาดตา สีสวยคม ลายเส้นและแคแรกเตอร์ต่างๆ รวมเข้ากับเนื้อเรื่อง และการดำเนินเรื่องที่ทำเรื่องซับซ้อนให้จบลงได้ภายในเพียง 11 ตอน ต้องชมว่า ทีมงานนี้เยี่ยมยุทธ์จริงๆ ไม่พอ ผมจะได้รับรู้ข้อมูลมาเพิ่มเติมอีกว่า ทีมงานเขาเตรียมการกันไว้อย่างดี ว่าจะต้องมีการสร้างเรื่องราวต่อเนื่องไปถึงโปรเจ็คต์หนังโรงอีกด้วย ซึ่งหลายคนก็อาจจะได้ชมไปแล้วด้วยซ้ำ กับภาคต่อทั้งสอง The King of Eden และ Paradise Lost นั่นไง
นอกจากอะนิเมะเรื่องนี้จะเด่นในด้านภาพและเนื้อหาแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สมควรพูดถึงอย่างเพลงเปิด ที่ได้เพลง “Falling Down” ของศิลปินอังกฤษผู้โด่งดังอย่างโอเอซิส ส่วนเพลงปิดก็ได้เพลง “Futuristic Imagination” จากศิลปิน School Food Punishment ผสมเข้ากับไตเติ้ลที่สวยสดงดงาม เสริมให้อะนิเมะเรื่องนี้ดูสมบูรณ์แบบมากขึ้นไปอีกเท่าตัว