รีวิว Grave of the Fireflies (1988)
หิ่งห้อยเรืองแสงด้วย 2 เหตุผล 1) ล่อลวงเหยื่อจับกิน 2) หาคู่ผสมพันธุ์ กับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้สร้างอีกเหตุผล เป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนความหมายของ ‘การมีชีวิต’ ผลงานจาก Isao Takahata หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอลิจิบลี เตรียมทิชชู่ไว้ให้พร้อม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Hotaru no haka (Hotaru แปลว่าหิ่งห้อย, Haka แปลว่าสุสาน) เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องต้องห้ามของผมมาแสนนาน เคยรับชมครั้งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้วตั้งใจว่าจะไม่หยิบขึ้นมาดูอีก จำได้ว่าตอนนั้นร้องไห้หนักมาก ทุกข์ทรมานแบบกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่เป็นวัน จึงขึ้น blacklist ไว้เพราะไม่อยากให้ตัวเองตกอยู่ในสภาวะหดหู่ระดับนั้นอีก
รับชมครั้งนี้ตระเตรียมใจไว้อย่างมาก ถึงไม่ได้เตรียมทิชชู่แต่ทำสมาธิรวบรวมสติ พยายามไม่ให้ตัวเองปลดปล่อยอารมณ์ล่องลอยตามอนิเมะไป ก็พบว่าสามารถดูจนจบได้โดยไม่ร้องไห้ แต่ก็ซึมหนักมาก ตั้งใจว่าชาตินี้จะไม่หยิบกลับขึ้นมาดูอีกแล้ว
คำถามที่เกิดขึ้นหลังดูจบ อนิเมชั่นเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่ออะไร? นำเสนอภาพเหตุการณ์จริง? ต่อต้านสงคราม? ความรับผิดชอบของสังคม? ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์? แล้วมันจำเป็นต้องให้เกิดความหดหู่ ร้องไห้หนักมากขนาดนั้นด้วยเหรอ?
คำตอบหนึ่งที่ผมคิดได้คือ ผู้กำกับไม่ได้สร้างสุสานหิ่งห้อยให้ใครร้องไห้ แต่เป็นปฏิกิริยาของผู้ชมที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน จะสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาได้มากน้อยแค่ไหน, ลองถามตัวเองนะครับ ถ้าคุณดูอนิเมะเรื่องนี้แล้วร้องไห้ เพราะอะไร? รู้สึกรันทดในชีวิตของสองพี่น้อง? เจ็บปวดแทนความไร้เดียงสา? เกลียดสงคราม? ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นการแสดงทัศนะ แนวคิด และความเชื่อของเราในเรื่องลักษณะนี้
ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Hotaru no Haka ความยาว 15 หน้า เป็นกึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียน Akiyuki Nosaka ตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Ōru Yomimono ปี 1967 และวางขายเป็นเล่มปีถัดมา
Nosaka เกิดวันที่ 10 ตุลาคม 1930 ที่เมือง Kamakura, Kanagawa เป็นลูกของผู้ช่วยผู้ว่าการเมือง Niigata มีพี่สาวที่เสียชีวิตไปแล้ว และน้องสาวอีกคนอาศัยอยู่กับครอบครัวบุญธรรมที่เมือง Kobe, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดลงทำให้สูญเสียบ้านและพ่อแม่บุญธรรม ทำให้ต้องออกเร่ร่อนหาทางเอาตัวรอดกันเอง ต่อมาน้องสาวเสียชีวิตเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร
Hotaru no haka เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของ Nosaka มองได้เป็นการสารภาพบาป/ขอโทษน้องสาวที่เสียชีวิต เพราะความเห็นแก่ตัวของตนในตอนนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อตนได้อาหารมาก็จะกินก่อนไม่สนน้อง เหลือเท่าไหร่ถึงค่อยนำมาให้ รู้ตัวว่าน้องไม่สบายหนักก็สายเกินไปแล้ว, หลังน้องสาวเสียชีวิต Nosaka ถูกส่งไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าถึงสองปี หลังจากนั้นครอบครัวแท้ๆจึงกลับมารับไปอยู่ด้วยกัน
Isao Takahata ผู้กำกับ/อนิเมเตอร์/โปรดิวเซอร์/นักเขียนบทสัญชาติญี่ปุ่น เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 1935 ที่เมือง Ujiyamada (ปัจจุบันคือ Ise) มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน อาศัยอยู่ที่เมือง Okayama City, ตอนอายุ 9 ขวบในชุดนอนเท้าเปล่ากับพี่สาวคนหนึ่ง วิ่งหนีเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าหลุมหลบภัย เห็นเมืองบ้านเกิดกำลังลุกไหม้เป็นไฟ ‘We were lucky to make it out alive,’ โชคดีไม่มีใครในครอบครัวของเขาที่เสียชีวิต แต่เหตุการณ์นั้นได้เปลี่ยนบุคลิกของเขาไปโดยสิ้นเชิง
ช่วงทศวรรษที่ 70s – 80s มีความพยายามดัดแปลง Hotaru no haka เป็นภาพยนตร์ (Live-Action) มาสักพักใหญ่แล้ว แต่ Nosaka ไม่เคยมอบสิทธิ์ดัดแปลงให้ใคร เพราะรู้สึกว่าไม่มีทางที่หนังคนแสดงจะสามารถนำเสนอฉากสงครามออกมาได้ใกล้เคียงกับความจริง จนได้พบกับ Isao Takahata ที่ทั้งสองต่างมีชีวิตวัยเด็กผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาคล้ายๆกัน และได้เสนอเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น หลังจากได้เห็น Storyboard เกิดความประทับใจอย่างยิ่ง จึงได้ยินยอมมอบลิขสิทธิ์และให้อิสระเต็มที่ในการดัดแปลง
Takahata สามารถสรรหาทุนสร้างให้กับ Hotaru no haka ได้ไม่ยาก (เพราะมีผู้จัดจำหน่ายหลายรายให้ความสนใจ) ผิดกับ Hayao Miyazaki ที่ขณะนั้นกำลังต้องการสร้าง My Neighbor Totoro แต่กลับไม่สามารถหานายทุนสนับสนุน พวกเขาเลยตกลงร่วมกันหารสอง สร้างอนิเมชั่นสองเรื่องนี้ขึ้นพร้อมกันเป็น Double Feature แถมออกฉายวันเดียวกัน, แต่กลายเป็นว่า My Neighbor Totoro ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนไม่มีใครตอนนั้นพูดถึง Hotaru no haka แม้แต่น้อย
รีวิว Grave of the Fireflies (1988)
ผมเคยรับชมผลงานของ Isao Takahata มาก็หลายเรื่อง อาทิ Only Yesterday (1991), Pom Poko (1994), The Tale of Princess Kaguya (2013) ฯ ว่ากันตามตรงในแง่ศิลปะและความสร้างสรรค์เฉพาะทางเหนือกว่า Miyazaki อย่างมาก แต่เพราะ Takahata
ขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘เอกลักษณ์’ ส่วนตัวที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง จึงทำให้มักจะถูกมองข้ามไม่ได้รับการพูดถึงเสียเท่าไหร่, อย่าง My Neighbor Totoro กับ Hotaru no haka สอง Masterpiece ที่ออกฉายวันเดียวกัน แต่มีทุกสิ่งอย่างตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
ระหว่างสดใสร่าเริงสุดๆ กับหดหู่ทุกข์ทรมานผุดๆ ผู้ชมทั่วไปส่วนใหญ่ต้องเลือกแบบแรกทั้งนั้น แล้วมันจะเหลือสักเท่าไหร่ให้กับเรื่องหลัง
ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ Takahata เป็นได้เพียงเงาของ Miyazaki ทั้งๆที่ทั้งคู่ควรเป็นแบบ Charlie Chaplin กับ Buster Keaton หรือ François Truffaut กับ Jean-Luc Godard ฯ ที่ถือว่าเป็นสองอัจฉริยะในวงการแห่งยุค, กระนั้น Takahata
ก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนตัวอะไร เพราะทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกันมานาน ก่อตั้งสตูดิโอจิบลีร่วมกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ใครจะเด่นกว่า, ถ้าคุณเป็นคออนิเมชั่นของญี่ปุ่น ยังไงจดจำชื่อของ Isao Takahata ไว้ด้วยนะครับ เพราะผมมองว่า ถ้าไม่มี Takahata ก็จะไม่มี Miyazaki (แต่ไม่มี Miyazaki ยังจะมี Takahata นะครับ)
ความรู้สึกหลังดู
เรื่องราวเริ่มที่สถานีรถไฟ Sannomiya, Nunobiki-chō วันที่ 21 กันยายน 1945 เด็กชาย Seita ในสภาพขาดอาหารกำลังจะตาย เมื่อวิญญาณออกจากร่างได้พบกับน้องสาว Setsuko ที่ก็เป็นวิญญาณเช่นกันท่ามกลางฝูงหิ่งห้อย พวกเขาเดินขึ้นรถไฟแห่งกาลเวลาย้อนอดีต (Flashback) เริ่มต้นที่เมือง Kobe ช่วงวันที่ 16–17 มีนาคม 1945
Seita (พากย์เสียงโดย Tsutomu Tatsumi) เด็กชายอายุ 14 ปี พอจะรู้เดียงสาแต่ยังไม่รู้จักคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ, จริงอยู่เขาดูแลน้องสาวเป็นอย่างดี แต่ก็มีหลายครั้งที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ต้องทำอะไร เพราะวุฒิภาวะยังไม่พอ จึงยังขาดวิจารณญาณ ประสบการณ์อีกมากที่ต้องเรียนรู้
Setsuko (พากย์เสียงโดย Ayano Shiraishi) น้องสาวอายุ 4 ขวบ ยังเต็มไปด้วยความไร้เดียงสาอ่อนต่อโลก ไม่ค่อยเข้าใจวิถีของชีวิตเท่าไหร่ แต่มันเหมือนว่าเด็กสาวจะค่อยๆโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเธอรับรู้ว่าแม่เสียชีวิตไปแล้ว และกำลังฝังศพให้หิ่งห้อย นั่นเป็นสิ่งที่แม้แต่พี่ชายก็ยังคิดไม่ถึง
เกร็ด: กล่องลูกกวาดของ Setsuko ผลิตโดย Sakuma Confectionary Company บริษัทนี้จริงๆตั้งขึ้นปี 1949 (หลังสงครามโลก) ตอนอนิเมะฉายได้ความนิยมมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถึงขนาดต้องออก Limited Edition ที่มีลวดลายเดียวกันออกขาย, มีคนรีวิวใน pantip ที่เคยลองไปซื้อกินแล้วบอกว่า รสชาติงั้นๆ ไม่อร่อยเลย!
วิสัยทัศน์ของ Takahata ต้องยกย่องเลยว่ามีความลึกล้ำมาก ใช้มุมมองของ Seita เล่าเรื่องผ่านโลกหลังความตายคู่ขนานกับโลกความจริง ซึ่งวิธีสังเกตคือโทนสีของภาพจะเป็นสีส้มแดง (เหมือนสีของเพลิงไฟ/หิ่งห้อย, เป็นสีที่แทนด้วยการจบสิ้น มอดไหม้มลายเป็นเถ้าถ่าน) ผิดแปลกจากสีสันปกติทั่วไป และเสื้อผ้า กล่องขนมที่มีสภาพยับเยิน จะกลับมาสะอาดใหม่เอี่ยม (เพราะพวกเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว)
ยุคสมัยนี้เราอาจจะคิด/มองเห็น/รู้สึกได้ว่า สังคมได้ทำร้ายเด็กชายหญิงมากน้อยเพียงไหน แต่คอยดูเถอะครับเอาเข้าจริงๆ เมื่อเจอเรื่องลักษณะนี้เข้ากับตัว คนส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบผู้ใหญ่พวกนี้ที่ต้องเห็นแก่ตัวเองไว้ก่อน ‘แค่ฉันเองยังเอาตัวไม่รอด จะให้ไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร’
ประโยชน์ของหิ่งห้อยในสายตามนุษย์ มีเพียงส่องแสงเพิ่มความสวยงามให้กับธรรมชาติ แต่อายุไขมันไม่นานก็ตายไป เปรียบได้กับชีวิตของมนุษย์ ที่ส่องแสงได้ไม่นาน (มีชีวิต) ก็ดับสูญ หลงเหลือเพียงจิตวิญญาณที่ยังคงล่องลอยวนเวียนอยู่บนโลกไปนี้ต่อไป
ส่วนตัวแค่ชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่สามารถทำใจให้หลงรักได้เพราะความหดหู่ เจ็บปวด ที่รุนแรงจนไม่คิดอยากต้องการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีก
– ประทับใจสุดคือ ตอนเคาะลูกอมผลไม้ชิ้นสุดท้าย และเอาน้ำใส่กินน้ำหวานได้อีก!
– ช็อคสุดคือตอน Setsuko กินดิน มันทำให้ป๊อปคอร์นขนมที่กำลังกินอยู่หมดรสชาติไปทันที
– หดหู่ที่สุดขณะ Setsuko กำลังฝังหิ่งห้อย เพราะมีนัยยะ แสงสว่างที่ดับลง=ชีวิตมนุษย์ที่ดับสูญ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สักครั้งก็ยังดี ไม่ใช่เพื่อร้องไห้ฟูมฟายหรือให้ตัวเองรู้สึกซึมเศร้าหดหู่ แต่ขอให้จดจำพฤติกรรมแย่ๆของตัวละครต่างๆไว้ให้ดี แล้วตั้งปณิธาณว่าจะต้องไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่สนผู้อื่นแบบนั้น สังคมที่ดีเราควรมีน้ำใจให้กัน เห็นแก่ตัวนั้นได้แต่ควรเผื่อแผ่ผู้อื่นบ้าง เพราะเมื่อใดที่เราเจอเข้ากับตัวจะได้ยังมีผู้สงสารให้การช่วยเหลือ
ถึงนี่เป็นอนิเมชั่นที่มีเด็กดำเนินเรื่อง แต่ไม่เหมาะกับนำไปให้เด็กเล็กดูนะครับ จัดเรต 15+ กับบรรยากาศและความตาย