รีวิว Kirikou and the Sorceress (1998)
Kirikou ยังไม่ทันคลอดจากครรภ์ ส่งเสียงบอกมารดาว่า ‘ให้กำเนิดฉันที’ เธอตอบด้วยน้ำเสียงสงบไม่ตื่นตระหนก ‘เด็กที่พูดจากครรภ์มารดา ย่อมสามารถคลอดออกมาด้วยตัวเองได้’ แล้วทารกน้อยนั้นก็คลานออกมา, จากเรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน (Folk Tale) ของชาว West Africa ด้วยงานศิลป์คล้ายๆภาพวาดของ Henri Rousseau แจ้งเกิดผู้กำกับ Michael Ocelot ประสบความสำเร็จล้นหลามกวาดรางวัลมากมายในยุโรป แต่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ฉายอเมริกา เพราะเด็กทารกไม่สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย
แซว: คิดเล่นๆแต่ท่าจะจริง ถ้าอนิเมชั่นเรื่องนี้นำมาฉายในเมืองไทย คงถูกหมอกหนาๆแห่งศีลธรรมปกคลุมบดบังมิดชิดจนดูไม่รู้เรื่องอย่างแน่นอน
จริงๆมันอาจเพราะเหตุผลเหล่านี้ด้วย ตัวละครเป็นชาวผิวสี พื้นหลัง West Africa และนัยยะสื่อได้ถึง Anti-Colonialism ต่อต้านการควบคุมครอบงำบงการ กดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานเยี่ยงทาสของประเทศ/ผู้มีอำนาจเหนือกว่า
Kirikou et la Sorcière เป็นอนิเมชั่นที่งดงามระดับวิจิตร แนวคิดลึกล้ำ เรื่องราวเหมาะสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนตัวไม่ถึงขั้นประทับใจมากนัก คงเพราะสามารถคาดเดาอะไรๆได้ง่ายเกินไป เลยขาดแรงดึงดูดให้เกิดความกระฉับกระเฉงในการครุ่นคิดตาม
Michel Ocelot (เกิดปี 1943) ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Villefranche-sur-Mer, French Riviera ตอนอายุ 6 ขวบติดตามครอบครัวไปอยู่ Conakry, Guinea ใช้ชีวิตวิ่งเล่นสนิทสนมกับเพื่อนผิวสีมากมาย พอเติบโตขึ้นวัยรุ่นเดินทางกลับฝรั่งเศส หลังจากรับชม The Revolt of Toys (1946) ของผู้กำกับ Hermína Týrlová เกิดความลุ่มหลงใหลใน Stop-Motion แต่เลือกเข้าเรียนมัณฑนศิลป์ (เป็นสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอนิเมชั่นเลยนะ!) แล้วมุ่งสู่วงการโทรทัศน์ กำกับอนิเมะขนาดสั้น/ซีรีย์สั้น ส่วนใหญ่เป็น Cut-Outs หรือไม่ก็ Silhouettes Animation อาทิ Gédéon (1976), Les Trois Inventeurs (1979), La Légende du pauvre bossu (1982), Ciné si (1989) และฉายโรงภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Kirikou et la sorcière (1998), ผลงานเด่นถัดๆมา อาทิ Azur et Asmar (2006), Les Contes de la nuit (2011) ฯ
สำหรับ Kirikou et la Sorcière ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้านของชาวแอฟริกัน ที่ Ocelot เคยได้ยินตั้งแต่สมัยยังเด็กอาศัยอยู่ประเทศ Guinea เรื่องราวของทารกน้อยเพิ่งเกิดชื่อ Kirikou สามารถพูดคุยสนทนา เดินออกจากครรภ์มารดา กระทำการต่อสู้เอาชนะนางแม่มดผู้ชั่วร้าย Karaba (เรื่องราวหลักๆมีเพียงเท่านี้ ที่เหลือคือการแต่งเติมเสริมเข้าไปในความสนใจของผู้กำกับ)
ผู้กำกับ Ocelot เล่าถึงความแตกต่างในวิถีชีวิตของชาวแอฟริกันผิวสี กับชาวตะวันตกผิวขาว เอาว่าตั้งแต่แรกเกิดพวกเขาก็เรียนรู้จักที่จะเป็นอิสระ อยากอะไรก็จงหัดทำด้วยตนเอง ไม่มีอะไรน่าหวาดกลัวอับอายต้องปกปิด ไปโรงเรียนมีเพียงกางเกงตัวเดียวไม่ใส่เสื้อ เต็มที่กับทุกวันของชีวิต
ภาพยนตร์/อนิเมชั่น แทบทั้งนั้นฮีโร่/พระเอก ต้องเป็นคนร่างกายสูงใหญ่กำยำแข็งแกร่ง มากด้วยพลังความสามารถ ต่อสู้จัดการเข่นฆ่านางแม่มดร้ายให้สูญเสียชีวิต แต่ความสนใจของผู้กำกับ Ocelot ต้องการให้ทุกอย่างกลับตารปัตร ตัวเอกคือเด็กทารกน้อยเพิ่งเกิด ตัวเล็กกระจิดริดไร้พละกำลังใดๆ มีเพียงสติปัญญาความคิดอ่านเหนือกว่าผู้อื่น ขณะที่ตัวร้ายต้องเป็นคนสวย เปลี่ยนจากเข่นฆ่าให้ตายกลายมาเป็นตกหลุมรักใคร่
อนิเมะเรื่องนี้เกิดจากการร่วมทุนของสามประเทศ France, Belgium, Luxembourg แต่โปรดักชั่นกระจายไป 5 ประเทศ
– ฝรั่งเศส กับสตูดิโอ Exposure, France 3 Cinema, Les Armateurs, Monipoly, Odec Kid Cartoons
– Belgium สตูดิโอ Radio-Télévision belge
– Luxembourg ใช้บริการของ Studio O, Trans Europe Film
– Latvia สตูดิโอ Rija Films
– Hungary สตูดิโอ Studio Exist
ความตั้งใจแรกของ Ocelot ต้องการสร้างด้วยเทคนิค Silhouette Animation (คล้ายๆหนังตะลุง ฉายแสงจากด้านหลังเห็นเป็นภาพเงาปรากฎ) แต่ก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็น Tradition Animation สองมิติแบบทั่วไป เพราะต้องการให้ผู้ชมพบเห็นสีสัน ความมีชีวิตชีวาของทวีปแอฟริกา ระยิบระยับตระการตาไปกับเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทองเพชรพลอย และภาพพื้นหลังที่รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากศิลปินจิตรกรชื่อดัง Henri Rousseau
รีวิว Kirikou and the Sorceress (1998)
ขอเอ่ยถึงชายผู้นี้ก่อนแล้วกัน Henri Julien Félix Rousseau (1844 – 1910) จิตรกรชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส แห่งยุคสมัย Post-Impressionist โดดเด่นกับลักษณะผลงาน Naïve Art และ Primitivism ไม่มีครูผู้สอน เคยได้รับคำแนะนำจากจิตรกรบ้าง แต่ศึกษาหาความรู้สะสมจากประสบการณ์ตนเองเป็นส่วนใหญ่
ผลงานโด่งดังของ Rousseau มักเป็นภาพป่าดงดิบ ทั้งๆเจ้าตัวเองไม่เคยออกเดินทางจากฝรั่งเศสไปท่องเที่ยวผจญภัยที่ไหน แรงบันดาลใจล้วนมาจากภาพประกอบของหนังสือ และสวนพฤกษชาติในกรุงปารีส เคยกล่าวว่า ‘เมื่อใดได้ไปเยี่ยมชมสวนธรรมชาติมองเข้าไปในเรือนกระจก เห็นต้นไม้แปลกจากดินแดนอันห่างไกล ที่ทำให้มีความรู้สึกราวกับอยู่ในฝัน’
เกร็ด: Rousseau คือผู้ริเริ่มแนวการเขียนภาพประเภท Portrait Landscape โดยเริ่มวาดทิวทัศน์ของบริเวณต่างในกรุงปารีสที่ชอบ แล้วค่อยเขียนภาพคนไว้ด้านหน้าของภาพ
Tiger in a Tropical Storm (Surprised!) (1891) คือภาพวาดธรรมชาติแรกของ Rousseau
ความรู้สึกหลังดู
เมื่อ Kirikou คลานออกจากครรภ์แม่ รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รีบวิ่งแจ้นไปหาพี่ชาย แอบทำตัวเป็นเหมือนหมวกมีเวทย์มนต์ให้คำแนะนำช่วยเหลือ นี่คือสัญลักษณ์ของสมอง (ครอบลงบนศีรษะ) หรือ ‘สติปัญญา’ ซึ่งก็สามารถช่วยชีวิตเอาตัวรอดกลับคืนหมู่บ้านได้สำเร็จ
นัยยะ/คติข้อคิดของฉากนี้ คนที่มีสติปัญญา ย่อมสามารถเอาตัวรอดจากเล่ห์กลมารยาอันชั่วร้ายของผู้อื่นได้
ลักษณะการออกแบบนางแม่มด Karaba
– ผิวสีน้ำตาลเข้ม เต็มไปด้วยความหยาบกระด้าง (ช่วงหลังที่เมื่อลิ่มหลักออกจากหลัง สีผิวจะจางลง สะท้อนถึงความนุ่มนวลอ่อนโยน)
– ทรงผมเป็นแฉกๆลู่ไปด้านหลัง (ช่วงหลังเหมือนจะหยิกหยักน้อยกว่า)
– คิ้วยาวหนา สองข้างแทบจะโค้งมนติดกัน (ช่วงหลังคิ้วจะบาง ดูอ่อนนุ่ม และระยะห่างสองข้างชัดเจน)
– นัยน์ตาสีเหลือง ดวงตาแหลมเหมือนงูอสรพิษ (ช่วงหลังนัยน์ตาสีขาว ดวงตาดำกลมโต เหมือนคนปกติทั่วไป)
– ริ้วรอยหยักย่นบนใบหน้า เพราะความโกรธเกลียดเลยอัปลักษณ์ (ช่วงหลังเมื่อยิ้มได้ จะมีผิวพันธุ์นวลเนียน ไร้ซึ่งรอยหยักเหี่ยวย่น)
– เครื่องประดับเน้นทองระยิบระยับ ดูเหมือนราชินีผู้มั่งคั่งร่ำรวย
– เน้นมากตรงหัวนมที่ประดับด้วยทอง มองไกลๆมีลักษณะเหมือนดวงตา ชูชันจับจ้องเป็นที่ต้องการครอบครองของชายหนุ่ม
– ลวดลายของกระโปรง ก็น่าจะลายผ้าพื้นเมืองของชาวแอฟริกัน
Kirikou พยายามเตือนสติเด็กๆในหมู่บ้านที่กำลังเล่นน้ำ แล้วพบเห็นเรือหน้าตาแปลกประหลาด ซึ่งต่างเฮโลกระโดดขึ้นเรือ ไม่ช้านานก็ถูกลักพาตัวเพื่อจะนำไปส่งนางแม่มด Karaba
เรือหน้าตาแปลกประหลาดนี้ มีลักษณะเหมือนลูกอมของหวาน กิเลสตัณหา ที่สามารถล่อลวงหลอกตาให้ใครๆต่างลุ่มหลงใหล และเมื่อได้ลิ้มลองก็ติดอกติดใจ แต่เสพติดแล้วก็มิอาจเลิกร้างรา ซึ่งวิธีการช่วยเหลือของ Kirikou ทำการเจาะรูทำให้เรือล่มในหนอง นี่คือการทำลายต้นตอของปัญหา ให้หมดสิ้นสภาพมิอาจใช้งานเดินทางได้ต่อ
ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งมักเกิดขึ้นซ้ำรอยเสมอ กลุ่มเด็กๆที่ Kirikou เพิ่งช่วยเหลือเอาตัวรอดให้เรือล่มในหนองมาได้ พอพบเห็นต้นไม้ใหญ่เบื้องบนมีผลไม้น่าสีสันสวยสดน่ารับประทาน ต่างรีบวิ่งเข้าหาปืนป่าย แม้ได้รับคำตักเตือนสติ แต่สุดท้ายก็ติดกับดักของนางแม่มด Karaba อีกครั้งหนึ่ง
ผมมอง Sequence นี้ที่คือการปืนป่ายต้นไม้ สะท้อนถึงความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ต้องการไขว่คว้าเก็บผลไม้สีแดงที่อยู่ด้านบนสุดมาเชยชมรับประทาน แต่ก็เป็นเพียงการ ‘ขายฝัน’ ถูกหลอกเพราะมันคือต้นไม้เวทย์มนต์ เมื่อทุกคนปืนป่ายขึ้นไปกลายสภาพเป็นกรงขัง รีบวิ่งแจ้นไปหานางแม่มด Karaba ซึ่งวิธีช่วยเหลือของ Kirikou คือการตัดต้นไม้ที่โคน แต่ด้วยพละกำลังอันน้อยนิด ต้องให้ทุกคนที่อยู่ด้านบนร่วมด้วยช่วยกันโยกเยกประสานงาน จึงสามารถโค่นหักเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิดเส้นยาแดงผ่าแปด
เมื่อใดที่กลุ่มมนุษย์ถูกลวงล่อหลอกให้ติดกับดัก จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีใครสักคนหรือคนนอก ใช้สติปัญญาครุ่นคิดเป็นผู้นำแก้ปัญหา แต่เพียงผู้เดียวย่อมมิอาจกระทำการใดๆสำเร็จ นอกเสียจากการร่วมมือร่วมใจของทุกคน จึงสามารถร่วมกันเอาตัวหนีรอดออกมาได้
ผมก็ไม่รู้นะไอ้ตัวกินน้ำนี่มันคืออะไร? แต่สะท้อนความคอรัปชั่นโกงกิน(ของมนุษย์)ได้อย่างชัดเจน, เพราะน้ำถือเป็นทรัพยากร/สิ่งจำเป็นสูงสุดของประชาชนหมู่บ้านแห่งนี้ แต่กลับถูกลักลอบดื่มกินไว้เพียงตัวเดียวจนร่างกายพองบวมใหญ่โตเหมือนชูชก สักวันคงระเบิดท้องแตกตาย แค่บังเอิญ Kirikou พบเจอเข้าก่อน ใช้เข็มลวกร้อนจิ้มแทงเป็นรู ทะลักเอาสายน้ำพลั่งพรูหลั่งไหลออกมา
พวกบรรดา(นักการเมือง)ที่คดโกงกินคอรัปชั่น มักจะมีลักษณะอ้วนท้วนอิ่มหนำ สะท้อนความร่ำรวยมากมีที่เกินจำเป็น สักวันเมื่อความแตกก็เหมือนเข็มลวกร้อนจิ้มแทง ทุกสิ่งอย่างความจริงก็จะพลั่งพรูออกมาจนสิ้นเนื้อประดาตัวไม่หลงเหลืออะไร