รีวิว Lu over the Wall (2017)
เด็กสาวเงือก Lu มาพร้อมรอยยิ้มและภยันตราย เมื่อได้ยินเสียงจังหวะดนตรี ครีบหางของเธอสามารถสลับสับเปลี่ยนเป็นขาสองข้าง (Merfolk) พอถูกมนุษย์พบเห็นเลยกลายเป็นศูนย์กลางความสนใจ ถูกใช้กอบโกยผลประโยชน์โดยไม่สนอะไร และเมื่อเกิดเหตุร้ายๆก็พร้อมขับไล่ผลักไสส่งอย่างไร้เยื่อใย … ทำไมพล็อตเรื่องมันเฉิ่มเชยขนาดนี้!
ภายใต้ในนั้นกลับซ่อนเร้นสิ่งเลวร้ายมากมาย พยายามยัดเยียดมุมมอง โลกทัศนคติ บทเรียนสอนใจ ทั้งๆเรื่องราวไม่ได้ให้สาระอะไรน่าติดตาม ตัวละครขาดการแนะนำพื้นหลัง ความสัมพันธ์จับต้องไม่ได้ ไคลน์แม็กซ์ก็จืดชืดไร้ความน่าสนใจ พอดูจบก็แยกทางใครทางมัน ไปครุ่นค้นหาหนทางชีวิตเหมาะสมกับตนเองเสียยังดีกว่า (ตอนจบอนิเมะ สามตัวละครหลักก็แยกทางใครทางมันเช่นกัน)
นอกจากไดเรคชั่นดำเนินเรื่องที่ยังพอมองเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Masaaki Yuasa อะไรอย่างอื่นกลับไร้ความสดใหม่ ล้วนได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์/อนิเมชั่นที่หลายๆคนมักคุ้นเคยอยู่แล้ว อาทิ ตัวละครเด็กหญิงเงือก Lu แทบไม่ต่างจาก Ponyo (2009), บิดาฉลามยักษ์ มีส่วนผสมระหว่าง Panda! Go, Panda! (1972), My Neighbor Totoro (1988), Finding Nemo (2003), หรือท่าเต้น Step-Dance มันส์ๆจาก Looney Toon และอนิเมชั่นยุคแรกๆของ Walt Disney ฯลฯ
ผมเองยังรู้สึกผิดคาดต่อผู้กำกับ Yuasa อุตส่าห์หวังว่าจะได้รับชมผลงานที่มีความลุ่มลึกล้ำซับซ้อนซ่อนปรัชญา แต่ไหนได้ Lu over the Wall กลับแทบไม่พบเห็นอะไรให้น่าครุ่นคิดค้นหา ทำออกมาอย่างเรียบง่าย ธรรมดาๆ เด็กๆดูได้ผู้ใหญ่ดูดี สัญลักษณ์เล็กๆน้อยแค่ของขบเคี้ยวพอก้อมแก้ม ไม่เพียงพอจะเป็นออเดิร์ฟนำเข้าอาหารจานหลักเสียด้วยซ้ำ!
Masaaki Yuasa (เกิดปี 1965) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka ค้นพบความชื่นชอบวาดภาพตั้งแต่เรียนอนุบาล คลั่งไคล้หลงใหล Mazinger Z (1972-74) และ Space Battleship Yamato (1974-75) ตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Kyushu Sangyo University คณะศิลปศาสตร์ สาขาสีน้ำมัน มีโอกาสรับชมหลายๆผลงานที่กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ อาทิ Yellow Submarine (1968), Lupin III: The Castle of Cagliostro (1979), The King and the Mockingbird (1980), The Fox and the Hound (1981) ฯ
รีวิว Lu over the Wall (2017)
หลังเรียนจบเริ่มต้นทำงานเป็น In-Between สตูดิโอ Ajia-do แม้ไม่ใช่คนมีพรสวรรค์ด้านการวาด แต่เก็บงานละเอียด รวดเร็ว แทบไร้ข้อบกพร่อง เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ร่วมงานจนได้มาเป็น Key Animation ซีรีย์ Chibi Maruko-chan (1990-92), มีชื่อเสียงจากออกแบบสรรค์สร้างสองบทเพลงใน Chibi Maruko-chan: My Favorite Song (1992), จากนั้นก้าวขึ้นมาเป็นนักวาด Storyboard, กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) ซีรีย์ Crayon Shin-chan (1992-), กระทั่งได้รับโอกาสเขียนบท กำกับตอนที่ 3 ของ OVA เรื่อง Anime Rakugo Kan (1992) เลยค้นพบเป้าหมายที่อยากทำ คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ ค่อยๆเก็บสะสมประสบการณ์จนสามารถแจ้งเกิดกับ Mind Game (2004) แล้วหันไปสร้างอนิเมะซีรีย์ในสังกัด Madhouse อาทิ Kemonozume (2006), Kaiba (2008), The Tatami Galaxy (2010)
แต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในสตูดิโอ Madhouse จากการลาออกของผู้ร่วมก่อตั้ง/หัวหน้าฝ่ายงานสร้างสรรค์ Masao Maruyama (บุคคลที่ชักชวน Masaaki Yuasa ให้มาทำงานในสังกัด Madhouse) ทำให้ Yuasa ตัดสินใจยุติสัญญา ลาออกมาเพื่อเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่เช่นกัน ทดลองโปรเจค Crowdfunding หาทุนสนับสนุนจาก Kickstarter ได้เงินกว่า $200,000+ เหรียญ สำหรับสร้างอนิเมะขนาดสั้น Kick-Heart (2013), หลังจากนั้นร่วมกับ Eunyoung Choi ก่อตั้งสตูดิโอ Science SARU (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Science Monkey) รวบรวมทีมงานที่กระจัดกระจายจาก Madhouse มาสร้างบ้านหลังใหม่ (Production House) ด้วยกัน
สำหรับโปรเจคภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอ Science SARU ผู้กำกับ Yuasa หวนระลึกนึกย้อนกลับไปหาตัวตนเองเมื่อเริ่มต้นเข้าสู่วงการ สมัยยังเป็น In-Between และ Key Animation อยากสรรค์สร้างเรื่องราวที่คล้ายๆ Chibi Maruko-chan หรือ Crayon Shin-chan มีความเรียบง่าย ธรรมดาๆ เหมาะสำหรับเด็กๆและครอบครัว.
ความรู้สึกหลังดู
เรื่องราวของ Kai Ashimoto อาศัยอยู่กับปู่และบิดายัง Hinashi-chō ชุมชนประมงหาปลาเล็กๆที่ยังคงเชื่อว่านางเงือกมีอยู่จริง ด้วยความชื่นชอบจังหวะและเสียงเพลง อัพโหลดคลิป REMIX บทเพลงขี้นบนอินเตอร์เน็ต พบเห็นโดยสองเพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมต้น Kunio และ Yūho ชักชวนมาร่วมวงดนตรี SEIRÈN แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นอะไร แค่วัยรุ่นเพ้อฝัน อยากทำอะไรตามใจฉัน
วันหนี่งระหว่างร่วมซ้อมดนตรีกับสองเพื่อนใหม่ยัง Ningyojima ทำให้ Kai มีโอกาสพบเห็นเด็กสาวเงือก Lu สังเกตว่าเมื่อเปิดเพลงดัง ครีบหางสลับสับเปลี่ยนเป็นขามนุษย์ สามารถโลดเล่นเต้นเป็นจังหวะ หลังจากแนะนำให้ Kunio และ Yūho แอบพาไปร่วมงานเปิดตัววงดนตรีในเทศกาลประจำปี แต่กลับเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ชาวบ้านรับรู้การมีตัวตนของสิ่งมีชีวิตในตำนาน เรื่องราวค่อยๆบานปลายเพราะไวรัลบนอินเตอร์เน็ต ทำให้บรรดาผู้ใหญ่ต่างพยายามฉกฉวยตักตวงผลประโยชน์ดังกล่าว
เรื่องวุ่นๆเกิดขี้นหลังจากการสูญหายตัวไปของ Yūho แท้จริงแล้วก็แค่หลบหนีออกจากบ้าน แต่บิดาของเธอกลับครุ่นคิดเข้าใจผิดว่าบุตรสาวถูกนางเงือกกัดกลืนกิน เลยจับ Lu มาควบคุมขังและกำลังจะเข่นฆ่าด้วยการให้แสงแดดสาดส่อง เป็นเหตุให้บิดาฉลาม ดิ้นแหวกว่ายมาหาเพื่อให้ความช่วยเหลือ กระตุ้นคำสาปบางอย่างให้ทั้งหมู่บ้านค่อยๆถูกน้ำท่วมขี้นสูง จนต้องอพยพหลบหนีตายกันอุตลุต
มีเพียง Kai ที่สามารถปรับความเข้าใจต่อ Lu (และบิดาฉลาม) แต่เขาก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขสิ่งต่างๆบังเกิดขี้นแล้ว ต้องใช้การร่วมมือร่วมใจระหว่างมนุษย์และสัตว์เงือกทั้งหลาย จนทุกคนสามารถเอาตัวรอดหนีน้ำท่วมได้ปลอดภัย และท้ายสุดต่างก็แยกย้ายไปตามวิถีหนทางของตนเอง
กลุ่มเป้าหมายของอนิเมะน่าจะคือเด็กๆและวัยรุ่น เต็มไปด้วยบทเรียนสอนใจที่ยัดเยียดใส่เข้ามาอย่าง อย่าเป็นคนละโมบโลภ เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ มองโลกแค่ด้านเดียว แล้วสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ซ่อนเร้นตนเองอยู่ข้างใน มีความต้องการอะไรก็พูดส่งเสียงออกมา ยิ้มเริงร่ากับชีวิต ก้าวออกเผชิญโลกกว้าง มีการผจญภัยอีกมากมายรอให้ค้นหา