รีวิว Ma vie de Courgette (2016)
เด็กชายวัย 9 ขวบ บังเอิญผลักมารดาตกบันไดเสียชีวิต เขากำลังต้องเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้น นำเสนอด้วยเทคนิค Stop-Motion Animation ช่างมีความมหัศจรรย์ ต้องมนต์ขลัง
เรื่องราวของ My Life as a Zucchini (2016) ถ้าสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง หรืออนิเมชั่นสามมิติ ผมเชื่อว่าจะได้ผลลัพท์แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง, Live-Action มันดูสมจริง เหี้ยมโหดร้ายเกินไปสำหรับเด็กๆ และการจะหานักแสดงรุ่นเล็กมารับบท ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด!, ขณะที่ 3D Animation มันคงขาดอารมณ์ร่วม สัมผัสจับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่
การเลือก Stop-Motion Animation มานำเสนอเรื่องโศกนาฎกรรมของเด็กวัย 9 ขวบ ถือว่ามีความน่าสนใจทีเดียว เพราะเทคนิคดังกล่าวมีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่าง Live-Action และ Animation มันจึงให้ความรู้สึกครึ่งจริง-ครึ่งไม่จริง (รับรู้ว่าหุ่นปั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่กลับขยับเคลื่อนไหว ให้ความรู้สึกจับต้องได้) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมอย่างน่าฉงน
นอกจากงานสร้าง Stop-Motion สิ่งน่าสนใจมากๆสำหรับ My Life as a Zucchini (2016) คือการดัดแปลงบทของ Céline Sciamma ซึ่งเต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา ลดบทพูด ตัดเสียงบรรยาย ส่วนใหญ่ใช้ภาษากาย สื่อสารด้วยการขยับเคลื่อนไหว (และภาษาภาพยนตร์) แต่น่าเสียดายที่หนังค่อนข้างสั้น อารมณ์(ของผู้ใหญ่)เลยยังเติมไม่เต็มสักเท่าไหร่ (แต่ก็เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายคือเด็กๆ ยาวกว่านี้คงจะตึงเครียดเกินไป)
Claude Barras (เกิดปี 1973) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ ศิลปินสรรค์สร้าง Stop-Motion Animation เกิดที่ Sierre, Switzerland โตขึ้นเดินทางสู่ Lyon ร่ำเรียนการออกแบบ คอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่ École Emile Cohl จบออกมาเริ่มจากรับงานฟรีแลนซ์ สรรค์สร้างหนังสั้นทั้งสองมิติและสามมิติ Mélanie (1998), Casting Queen (1999), กระทั่งค้นพบความสนใจใน Stop-Motion จากเพื่อนสนิท Cédric Louis ร่วมงานกันตั้งแต่ The Genie in a Ravioli Can (2006)
เห็นว่าเป็น Louis ได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมเยาวชน Autobiographie d’une Courgette (2002) เมื่อประมาณปี 2006 เลยชักชวน Barras ให้ร่วมดัดแปลงสร้างเป็น Stop-Motion Animation แต่เพราะพวกเขายังขาดประสบการณ์ทำงาน (และความเชื่อมั่นใจว่าจะทำออกมาสำเร็จ) จึงทดลองสรรค์สร้าง Stop-Motion ขนาดสั้น Sainte Barbe (2007) และ Au Pays Des Tetes (2008)
และเมื่อค้นพบความเชื่อมั่นในตนเอง เลยสรรค์สร้างตอน Pilot ขนาดสั้นความยาวสามนาที Zucchini (2010) สำหรับมองหาโปรดิวเซอร์/ผู้จัดจำหน่าย ขอทุนสำหรับสรรค์สร้างโปรเจคดังกล่าว … หนังสั้นเรื่องกล่าวก็คือบทสัมภาษณ์ (นักพากย์) Zucchini ที่อยู่ช่วง Mid-Credit ของหนังนะครับ
Autobiographie d’une Courgette แปลว่า Autobiography of a Zucchini แต่งโดย Gilles Paris (เกิดปี 1959) นักเขียน/นักข่าว สัญชาติฝรั่งเศส ผมไม่แน่ใจนักว่านวนิยายเรื่องนี้คืออัตชีวประวัติของผู้เขียนหรือไม่ แต่ใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งก็คือ Courgette หรือ Zucchini (ชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เกร็ด: นวนิยายเล่มนี้ เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฉายโทรทัศน์ C’est mieux la vie quand on est grand กำกับโดย Luc Béraud ออกอากาศเมื่อปี 2008 แต่เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
ความประทับใจใน Tomboy (2011) [ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆ พยายามปกปิด/ซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างจากเพื่อนคนอื่นๆ] ทำให้ Barras ร้องขอให้โปรดิวเซอร์ติดต่อหา Céline Sciamma เพื่อดัดแปลงบทจากนวนิยาย Autobiographie d’une Courgette … ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่งทีเดียว
Sciamma ให้สัมภาษณ์ว่ามีโอกาสพบเห็นภาพร่างตัวละคร ซึ่งช่วยในการพัฒนาบทอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามใส่ mise-en-scène คำอธิบายรายละเอียดทุกสิ่งอย่าง (องค์ประกอบฉาก, การจัดแสง, เครื่องแต่งกาย และการแสดง) เพื่อให้ทีมงานนำไปปรับใช้ในงานสร้างได้โดยทันที
รีวิว Ma vie de Courgette (2016)
เรื่องราวมีพื้นหลัง Switzerland ช่วงทศวรรษ 2010s, เด็กชายวัย 9 ขวบชื่อ Icare (แต่ชอบให้เรียกว่า Courgette หรือ Zucchini) วันหนึ่งผลักมารดาในสภาพเมามายตกบันไดเสียชีวิต เลยถูกส่งตัวไปสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า แรกๆยังเต็มไปด้วยความทุกข์โศก เศร้าเสียใจ แต่หลังจากค่อยๆปรับตัว สนิทสนมผองเพื่อนใหม่ๆ และการมาถึงของ Camille กลายเป็นรักแรกพบที่ต่างให้ความช่วยเหลือ กำลังใจต่อกัน จนกระทั่งทั้งสองได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ Raymond รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
สำหรับนักพากย์เด็กๆ ทั้งหมดล้วนเป็นมือสมัครเล่น (non-professional) ที่ผ่านการออดิชั่น (แบบเดียวกับ Mid-Credit ของหนัง) โดยเลือกคนที่มีบุคลิกภาพ(และน้ำเสียง)สอดคล้องเข้ากับตัวละคร เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องปรุงปั้นแต่งอะไรมาก
ซึ่งวิธีการบันทึกเสียงจะไม่ใช่การอ่านตามบทพูด(ที่นิยมทำตามสตูดิโอทั่วไป) ทีมงานลงทุนสร้างฉากภายในสตูดิโอ จัดแต่งเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของต่างๆ ให้มีลักษณะใกล้เคียงรายละเอียด(ที่จะทำ Stop-Motion) แล้วมอบอิสระเด็กๆในการละเล่น ทำการแสดง บันทึกภาพและเสียงไปพร้อมๆกัน (ซึ่งการแสดงของเด็กๆเหล่านั้น จะถูกนำไปใช้อ้างอิงในโปรดักชั่นอีกด้วย) … ใช้เวลาในส่วนนี้ทั้งหมด 6 สัปดาห์ (เท่ากับโปรดักชั่นหนังเรื่องนึงเลยนะ)
ความรู้สึกหลังดู
ส่วนการออกแบบตัวละคร มองผิวเผินก็ดูเหมือนหุ่นปั้นดินน้ำมันทั่วๆไป และใส่กลไกสำหรับขยับเคลื่อนไหวอยู่ภายใน แต่การออกแบบถือว่ามีความเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อยเลยละ
ลักษณะศีรษะมีขนาดเกือบๆ 1 ใน 3 (ของร่างกาย) ขณะที่รูปทรงมีทั้งกลม เรียว แหลม ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยใจคอของตัวละครนั้นๆ
ดวงตาโต (Big Eye) แต่ผมรู้สึกว่าขนาดเท่ากันหมดนะ (แค่ใหญ่กว่าตาปกติของมนุษย์ก็เท่านั้น)
ความท้าทายอยู่ที่เปลือกตา จะพบเห็นการกระพริบบ่อยครั้งมากๆ ซึ่งสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ตัวละครออกมา
ทรงผม ก็บ่งบอกสภาวะทางอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน
มีเด็กคนหนึ่งที่มักปัดผมลงปิดตาข้างหนึ่ง นั่นสะท้อนถึงการขาดความมั่นใจในตนเอง (เหมือนเพราะตาข้างนั้นมีรอยแผลเป็น ไม่อยากให้ใครพบเห็น) แต่หลังจาก Camille พยายามปัดขึ้นให้ตลอดเวลา เขาจึงค่อยๆบังเกิดความหาญกล้าขึ้นมาเล็กๆ
ผมชอบทรงผมของ Simon มากสุดนะ สีส้มแดงแรงฤทธิ์ เริดเชิดขึ้นข้างบน และไม่ปิดบังรอยแผลเป็น พร้อมเผชิญหน้าทุกสิ่งอย่าง
ขณะที่ไฮไลท์ของการออกแบบตัวละครคือแขนยาว (Long Arms) ทำจากลวดอลูมิเนียม ไม่มีข้อศอก เพื่อให้สามารถขยับเคลื่อนไหวในท่วงท่ายากๆ อาทิ กอดอก กอดเข่า วางอย่างห่อเหี่ยว ฯ ใช้สื่อแทนสภาพอารมณ์/สภาวะจิตใจของตัวละคร (คล้ายๆดวงตาคือหน้าต่างหัวใจ แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ใช้แขนยาวเพื่อแทนภาษากายแสดงออกมา)
งานศิลป์ของหนัง หลายคนอาจรู้สีกถีงความละม้ายคล้าย ‘Tim Burton style’ ทั้งห้องใต้หลังคา (ที่ชวนให้นีกถีง Sweeney Todd (2007) กับสายล่อฟ้าใน Frankenweenie (2012)) และสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า (ส่วนผสมของ Beetlejuice (1988))
แต่ผมครุ่นคิดว่ามีความเป็น Brutalism (Brutalist Art) เน้นความเรียบง่าย (Minimalist) มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์มากกว่าความสวยงาม ซี่งสะท้อนค่านิยมทางสังคมที่ผู้คนมักมาก เห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์กำไร ไม่ใคร่สนใจ/ครุ่นคิดถีงสภาพจิตใจของผู้อื่น (โดยเฉพาะครอบครัวของเด็กๆที่ถูกทอดทิ้งขว้างเหล่านี้)
ส่วนทิวทัศน์ธรรมชาติ ให้สัมผัสของ Primitivism (Primitive Art) แต่มีความเวิ้งว่างเปล่า ต้นไม้ขี้นห่างๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา นี่ไม่ใช่เพราะทุนสร้างไม่เพียงพอนะครับ แต่จงใจให้สื่อถีงความแห้งแล้งของจิตใจมนุษย์ ทอดทิ้งเด็กๆในสถานที่ห่างไกล ไม่มีใครใคร่เหลียวแล
หนังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันที่ทั้งฮากลิ้ง และเศร้าสลดในคราเดียวกัน (นี่ต้องชม Céline Sciamma ครุ่นคิดได้ยังไง) แต่ผมขอเลือกเด่นๆที่หลายคนอาจครุ่นคิดไม่ทันมาแนะนำกันว่าวของ Zucchini ด้านหน้าวาดรูปพ่อที่เหมือนเป็น Superheo ไม่เคยอยู่บ้านเพราะมัวกอบกู้โลก
ส่วนด้านหลังวาดรูปไก่ (Chick) เป็นศัพท์แสลงที่เด็กๆอาจยังไม่เข้าใจ หมายถีงหญิงสาว (สื่อถีงการที่พ่อไม่เคยกลับมาบ้าน เพราะมัวติดสาวๆสวยๆ แต่งงานมีเมียใหม่ไปแล้วกระมัง), ส่วนตอนท้ายเจ้าไก่จะถูกแทนที่ด้วยภาพถ่ายเพื่อนๆ สะท้อนถีงบุคคลที่ช่วยให้เขาก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาร้ายๆ พวกเขาจักคงอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์
แม้ว่าหนังจะนำเสนอเรื่องราวของเด็กเล็ก แต่ควรมีผู้ปกครองนั่งรับชมอยู่เคียงข้างนะครับ เพราะเนื้อหาช่วงแรกๆค่อนข้างตีงเครียด หนักหนาสาหัสพอสมควร ถีงอย่างนั้นพอสักกลางเรื่องก็ค่อยๆผ่อนคลายลง และตอนจบ(ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก)ก็น่าจะสามารถยิ้มออกมาเล็กๆ
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศตึงๆ ความซึมเศร้าจากโศกนาฎกรรม