รีวิว Okko’s Inn (2018)

Okko เด็กหญิงวัย 12 ขวบ สูญเสียครอบครัวจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จำต้องมาอาศัยอยู่กับคุณย่าดูแลโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง เพราะไม่มีทางเลือกอื่นเธอจึงกลายเป็นผู้จัดการรุ่นเยาว์ ค่อยๆเรียนรู้ เติบโต ก้าวข้ามผ่านความทรงจำอันเลวร้าย

Okko’s Inn ฉบับฉายโรงภาพยนตร์ และซีรีย์โทรทัศน์ 26 ตอน แม้ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องเดียวกัน แต่ใช้ทีมสร้างคนละชุด ผู้กำกับคนละคน (แต่นักพากย์ชุดเดียวกัน) ผลลัพท์ราวกับคนละเรื่องเดียวกัน

ได้ยินว่าซีรีย์ค่อนข้างซื่อตรงต่อต้นฉบับ สามารถค่อยๆนำเสนอเรื่องราว สานความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร มีลักษณะเป็น Slice-of-Life ชีวิตประจำวันของเด็กหญิง Okko ในฐานะผู้จัดการรุ่นเยาว์ ส่วนใหญ่ใช้การวาดมือ (Tradition Animation) ไม่ค่อยมีซีนหวือๆหวาๆ น่าตื่นตาตื่นใจสักเท่าไหร่

ขณะที่ฉบับหนังอนิเมะความยาวเพียง 94 นาที ตัดทอนปรับแต่งรายละเอียดมากมาย มุ่งเน้นนำเสนอการก้าวข้ามผ่านความทรงจำอันเลวร้ายของ Okko ส่วนงบประมาณแม้ได้รับพอๆกัน แต่สามารถทุ่มให้โปรดักชั่น CGI เต็มไปด้วยสีสันสดใสตระการตา

ประเด็นคือ Okko’s Inn แรกเริ่มตั้งใจสร้างเป็นซีรีย์ฉายโทรทัศน์ แต่คุณภาพโปรดักชั่นค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐาน สตูดิโอ MadHouse เลยติดต่อขอความช่วยเหลือ Kitarō Kōsaka คงเล็งเห็นว่า(ฉบับซีรีย์)กู่ไม่กลับแล้ว เลยตัดสินใจขอกำกับสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องใหม่ขี้นมาแทน

รีวิวอนิเมะ

รีวิว Okko’s Inn (2018)

ทีแรกผมตั้งใจจะดูซีรีย์ 26 ตอน ที่สร้างขึ้นพร้อมๆฉบับฉายโรงภาพยนตร์เคียงคู่เปรียบเทียบกัน แต่เพราะไม่สามารถหารับชม(ซีรีย์) เลยตัดใจเหลือแค่หนังอนิเมะเรื่องนี้ เพราะชื่อเสียงเรียงนามของ Kitarō Kōsaka แถมคว้ารางวัล Mainichi Film Award: Best Animation Film เลยตั้งความหวังไว้สูงโคตรๆ

จริงอยู่อนิเมะเรื่องนี้อาจมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ มอบความบันเทิง แฝงสาระข้อคิดในการใช้ชีวิต ก้าวข้ามผ่าน ‘Trauma’ ความทรงจำที่เลวร้าย แต่สำหรับผู้ใหญ่ ผมกลับรู้สึกถึงการยัดเยียดมุมมองทัศนคติบางอย่าง(ต่อเด็กเล็ก), สร้างภาพการแสดงออกของ Okko มากเกินไป (Over-Acting), วิญญาณสามตนต่างแย่งซีนกันเอง ใส่มาทำไมเยอะแยะ (เคารพต้นฉบับมากไป), นอกจากความงดงามในโปรดักชั่น งานศิลป์ อย่างอื่นคลุกเคล้าไม่เข้ากันสักเท่าไหร่

Kitarō Kōsaka (เกิดปี 1962, ที่ Kanagawa) ผู้กำกับ นักอนิเมเตอร์สัญชาติญี่ปุ่น ด้วยความชื่นชอบในผลงานผู้กำกับ Hayao Miyazaki (ตั้งแต่ยังไม่ได้ก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli) หลังเรียนจบมัธยม ยื่นใบสมัครสตูดิโอเดียวกับที่เขาทำอยู่ขณะแต่ได้รับการปฏิเสธ เลยมองหาสังกัดอื่นที่รับงาน Outsource (อนิเมะของ Miyazaki)

จนได้เริ่มต้นที่ Oh! Production ปักหลักเรียนรู้งานตั้งแต่ปี 1979 มีโอกาสเป็น Key Animation เรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), Angel’s Egg (1985), Castle in the Sky (1986) ฯ เมื่อถึงจุดอิ่มตัวลาออกมาเป็น Freelance อาทิ Royal Space Force: The Wings of Honneamise (1987), Grave of the Fireflies (1988), Akira (1988),

รีวิว Okko’s Inn (2018)

ได้รับคำชื่นชมจาก Miyazaki จนก้าวขึ้นมากำกับอนิเมชั่น (Animation Director) เรื่อง Whisper of the Heart (1995), Princess Mononoke (1997), Spirited Away (2001), Howl’s Moving Castle (2005), Ponyo on the Cliff by the Sea (2008) และ The Wind Rises (2013)

แม้อยู่ในวงการอนิเมะมานาน แต่ Kōsaka ก็ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้กำกับสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความชื่นชอบหลงใหลในจักรยาน ได้รับคำแนะนำพร้อมผลักดันจาก Miyazaki ให้ดัดแปลงสร้าง Nasu: Summer in Andalusia (2003) กลายเป็นอนิเมะเรื่องแรกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ติดตามด้วยภาคต่อ Nasu: A Migratory Bird with Suitcase (2007) แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่า แต่ก็ยังได้รับคำชื่นชมจนคว้ารางวัล Tokyo Anime Award: Best OVA (Original Video Animation)

หลังเสร็จจาก ‘passion project’ ก็หวนกลับมาเป็น freelance รับงานที่ตนสนใจ ส่วนใหญ่ยังคงปักหลักอยู่สตูดิโอ Ghibli แม้ Miyazaki ประกาศรีไทร์ ก็ให้ความช่วยเหลือรุ่นน้อง Hiromasa Yonebayashi ไม่ห่างหายไปไหน จนกระทั่งช่วงปี 2017 ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ของ MadHouse ให้มาช่วยอุ้มโปรเจค Okko’s Inn

Waka Okami wa Shōgakusei! แปลตรงตัวว่า The Young Innkeeper Is a Grade Schooler! คือนวนิยายสำหรับเด็ก แต่งโดย Hiroko Reijō วาดภาพลงสีโดย Asami มีทั้งหมด 20 เล่ม ตีพิมพ์ระหว่างปี 2003 – 2013 ยอดขายเกินกว่า 3 ล้านเล่ม!, ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นมังงะ วาดโดย Eiko Ōuchi ตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Nakayoshi สำหรับเด็กผู้หญิง (shōjo) ระหว่างปี 2006 – 2012 รวมได้ 7 เล่ม

รีวิว Okko’s Inn (2018)

รีวิว Okko’s Inn (2018)

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า Kōsaka ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างจากฉบับซีรีย์โทรทัศน์ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ดัดแปลงบท ติดต่อนักเขียน Reiko Yoshida จริงๆแล้วเธองานยุ่งมากๆ แต่เพราะเคยติดตามอ่านนวนิยาย มีความชื่นชอบประทับใจเป็นการส่วนตัว เลยยินยอมตอบตกลง

Reiko Yoshida (เกิดปี 1967, ที่ Hiroshima) นักเขียนมังงะ บทอนิเมะ/ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น, สำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรม Hosei University เริ่มโด่งดังจากการดัดแปลงบท The Cat Returns (2002) ให้กับสตูดิโอ Ghibli, ผลงานเด่นๆมักเป็นอนิเมะแนว Healing ดูสบายๆพร้อมสาระข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต อาทิ Aria the Animation (2005), K-On! (2009-10), Bakuman (2010-13), Girls und Panzer (2012-13), Non Non Biyori (2013, 15, 21), A Silent Voice (2016), Liz and the Blue Bird (2018), Violet Evergarden (2018) ฯ

ในต้นฉบับนวนิยายพยายามหลีกเลี่ยง พูดกล่าวถึง นำเสนอประเด็นความตายออกมาตรงๆ (เพราะกลุ่มเป้าหมายคือเด็กเล็ก) แต่นวนิยายเล่มนี้ก็มีอายุเกินกว่า 10+ ปี แฟนๆกลุ่มแรกที่เคยอ่านคงเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว อนิเมะจึงลองปรับเปลี่ยนทิศทางนำเสนอ เริ่มต้นด้วยการตายของพ่อ-แม่ แล้วดูว่า Okko จะรับมือกับความสูญเสียเช่นไร?

รีวิวอนิเมะออนไลน์

ความรู้สึกหลังดู

ให้เสียง Oriko Seki ชื่อเล่น Okko เด็กหญิงอายุ 12 ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 ภายนอกดูสนุกสนานร่าเริง เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ยังเต็มไปด้วยความอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา เชื่อคนง่าย ใครพาไปไหนก็ไป ยังสามารถเรียนรู้ ลิ้มลองสิ่งแปลกใหม่

แต่ลึกๆภายในจิตใจยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย ครุ่นคิดว่าพ่อ-แม่ ยังอยู่ข้างกายไม่เหินห่างไปไหน นั่นอาจรวมไปถึงเพื่อนผีทั้งสามตน (จะมองว่าพวกเขาเป็นวิญญาณ หรือจินตนาการเด็กหญิงก็ได้เหมือนกัน) จนกว่าจะถึงวันก้าวข้ามผ่านปม ‘Trauma’ จักคอยอยู่เคียงข้าง เป็นกำลังใจไม่ยอมเหินห่างไปไหน

ผมพอเข้าใจนะว่าเด็กเล็กมีพละกำลัง เรี่ยวแรง ‘Active’ สามารถวิ่งเล่น ทำโน่นนี่นั่น ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเรายังสามารถมองการแสดงออกของ Okko คือกลไกปกป้องตนเองเพื่อมิให้มัวแต่ครุ่นคิดถึงพ่อ-แม่ จนไม่อาจกระทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน … แต่อนิเมะพยายามใส่ปฏิกิริยาแสดงออกให้ตัวละครหัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เศร้าโศก ฯลฯ ในปริมาณสุดโต่ง เว่อวังอลังการ จนน่าหมั้นไส้ รำคาญใจ มันต้อง ‘Overacting’ ขนาดนั้นเลยเหรอ? เต็มที่กับชีวิตเป็นสิ่งดี แต่ถ้าไม่รู้จักควบคุมตนเองมันจะกลายเป็นปัญหาสังคมในกาลต่อไป!

ดูอนิเมะออนไลน์

น้ำเสียงของ Kobayashi แม้มีความร่าเริงสดใส เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นใจในตนเอง แต่ลึกๆซ่อนเร้นความเจ็บปวดรวร้าว ที่พร้อมแสดงออกภายนอกโดยไม่รู้ตัวเมื่อถูกบางสิ่งอย่างกระทบกระเทือนจิตใจ ผู้ชมจะรู้สึกสงสาร พยายามทำความเข้าใจ และเป็นกำลังใจให้เธอสามารถก้าวข้ามปมเลวร้ายจากอดีต ได้รับความที่รักจากทุกๆคนรอบข้าง

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบอนิเมะเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะไดเรคชั่น การดำเนินเรื่อง เหตุการณ์ต่างๆ เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่เกินพอดี แล้วผสมผสานคลุกเคล้าไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ แต่อยากให้มองว่าคือความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เห็นหลายๆคนรับชมแล้วชื่นชอบคลั่งไคล้ มีมุมมองความเข้าใจแตกต่างออกไป ถ้าได้รับสาระข้อคิดที่เป็นประโยชน์ก็ถือว่าไม่เลวร้าย

ถ้าคุณชื่นชอบอนิเมะอย่าง Lu over the Wall (2017) หรือ Mirai (2018) ก็น่าจะมีแนวโน้มชื่นชอบ Okko’s Inn (2018) ที่นำเสนอเรื่องราวในมุมมองเด็กเล็ก แฝงข้อคิดสอนใจ ผู้ใหญ่(น่าจะ)ดูได้ เด็กๆดูดี

และถ้าใครสนใจอนิเมะแนว Healing มีพื้นหลัง Onsen (เป็นแนวที่แอบได้รับความนิยมอยู่เล็กๆนะ) แนะนำไปให้ลองหา Hanasaku Iroha (2011), Konohana Kitan (2017), Yuuna and the Haunted Hot Springs (2018) แถมให้กับ Thermae Romae (2012)

รีวิวการ์ตูนอนิเมะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *