รีวิว Only Yesterday (1991)

วันนี้มีอะนิเมะเก่าๆปี1991มาแนะนำกันค่ะ ขณะที่ Hayao Miyazaki มุ่งสู่ความแฟนตาซีล้ำจินตนาการ Isao Takahata เลือกหันเข้าหาความสมจริง (Realist) นำเสนอภาพวาดศิลปะในรูปแบบภาษาภาพยนตร์, Only Yesterday คืออนิเมชั่นที่จะทำให้คุณหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็ก ขณะเดียวกันยังชักชวนให้ตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่างกับอนาคต, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

แม้จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli แต่วิสัยทัศน์ ความสนใจ และไดเรคชั่นในการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata ถือว่าแตกต่างตรงกันข้ามสุดขั้ว เทียบได้กับสองอัจฉริยะแห่งยุคสมัย อาทิ Charlie Chaplin กับ Buster Keaton, François Truffaut กับ Jean-Luc Godard, Akira Kurosawa กับ Yasujirō Ozu ฯ

ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะ Takahata ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นศิลปินนักวาดภาพ ตอนเข้าเรียน University of Tokyo เลือกสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส แค่ว่าระหว่างนั้นมีโอกาสรับชมอนิเมชั่นเรื่อง Le Roi et l’Oiseau (The King and the Mockingbird) ของผู้กำกับ Paul Grimault ทำให้เกิดความหลงใหลสนใจด้านนี้ขึ้นทันที ขณะที่ Miyazaki คลั่งไคล้การวาดภาพ โตขึ้นอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ก่อนมาเริ่มหลงใหลอนิเมชั่นจริงจังจากการรับชม Panda and the Magic Serpent (1958) แต่กลับเรียนจบ Gakushuin University สาขารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ … ทั้งสองพบเจอร่วมงานกันครั้งแรกขณะทำงานที่สตูดิโอ Toei Animation

รีวิวอนิเมะ

Miyazaki ถือว่าเป็นคนเดินตามหลัง Takahata เพราะเขามาจากสายนักวาด อนิเมเตอร์ ไม่ใช่ผู้กำกับคุมงานสร้างมาก่อน หลังลาออกจากสตูดิโอ Toei Animation ทำงานร่วมกันอยู่พักใหญ่ๆ เรียนรู้แลกเปลี่ยนรับอิทธิพลต่อกันและกัน ต่อสู้ดิ้นรนฟันฝ่าไปเรื่อยๆ ซึ่งความสำเร็จแรกเริ่มต้นที่ Miyazaki เรื่อง The Castle of Cagliostro (1979) จากนั้น Takahata โด่งดังกับ Gauche the Cellist (1982) และหลังจาก Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) พวกเขาจึงร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli

‘ถ้าไม่มี Isao Takahata ก็อาจไม่มี Hayao Miyazaki’ คำกล่าวนี้ไม่ผิดเลยนะ

สิ่งผิวเผินที่คนส่วนใหญ่มองเห็นความแตกต่างของสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการอนิเมชั่นฝั่งญี่ปุ่น คือ Takahata มักทำอนิเมชั่นแนวจริงจัง ตึงเครียด หดหู่เกินไป เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ขณะที่ Miyazaki เด็กๆดูได้สาระ มีความสวยงามมหัศจรรย์ มอบความอิ่มเอิบ สุขสำราญกายใจ … มองแบบนี้ Miyazaki เลยมักได้รับการพูดถึง จดจำ ประสบความสำเร็จ กลายเป็นตำนานที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า

ในเบื้องลึก ความแตกต่างของทั้งสองเริ่มเห็นได้ชัดหลังจากร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli คือ Takahata เลือกเดินเข้าหาความสมจริง (Realist) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตใกล้ตัว จับต้องได้ มีความธรรมดา เรียบง่าย ยกตัวอย่าง Only Yesterday ว่าไปสามารถสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง Live-Action ก็ยังได้ (ทุนสร้างไม่สูงด้วย) แต่พอทำเป็นอนิเมชั่น ก่อให้เกิดสัมผัสความรู้สึกที่แตกต่างออกไป, ขณะที่ Miyazaki เลือกผลักดันจินตนาการของตนเองให้ก้าวล้ำออกไป สู่ความเพ้อฝันแฟนตาซีไร้ขอบเขต แม้มิได้โดดเด่นล้ำกับลีลาการเล่าเรื่องมากนัก แต่มีความสวยงามตื่นตระการตาสุดมหัศจรรย์เกินพรรณา

สิ่งที่เป็นคำถามค้างคาใจของผมระหว่างรับชม Only Yesterday เพราะเหตุใด ทำไม Takahata ถึงเลือกดัดแปลงสร้างในรูปแบบภาพยนตร์อนิเมชั่น? ก็มากระจ่างเอาตอนจบเลยละ เมื่อพบเห็นนางเอกตัดสินใจ ‘เลือก’ ทำอะไรบางอย่างกับอนาคตตนเอง … ก็นั่นแหละคือการเลือกของ Takahata ทุกสิ่งอย่างในชีวิตที่เป็นประสบการณ์สะสมผ่านมา ได้แปรสภาพกลายเป็นตัวตนเองในปัจจุบัน การตัดสินใจทำในสิ่งขัดแย้ง หัวขบถต่อบริบทของสังคม ก็อนิเมชั่นเรื่องนี้แหละ นำไปสร้างเป็น Live-Action คนแสดงง่ายกว่ามาก แต่ฉันอยากทำเป็นอนิเมชั่น ใครจะทำไม หึ!

เรื่องราวอ้างอิงส่วนหนึ่งมาจากหนังสือการ์ตูน Omoide Poro Poro (1982) [คือชื่อภาษาญี่ปุ่นของอนิเมะด้วยนะ] แต่งโดย Hotaru Okamoto กับ Yuko Tone ความยาว 3 เล่ม เรื่องราวชีวิตประจำวันเรื่อยเปื่อย Slice-Of-Life ของเด็กหญิง Taeko อายุ 11 ขวบ ไม่มีพล็อตอะไรเป็นพิเศษ แค่รวบรวมบรรยากาศ Nostalgic ของคนเคยมีชีวิตผ่านทศวรรษ 60s เกี่ยวกับเพลง หนัง รายการโทรทัศน์ ไอดอล แฟชั่น ฯ

เกร็ด: Omohide Poro Poro แปลว่า Memories come tumbling down.

เนื่องจากมังงะมีเรื่องราวเฉพาะช่วงวัยเด็กของ Taeko ซึ่งพอไปเข้าตา Takahata เกิดความสนใจอยากเห็นอนาคตของเด็กหญิงสาว โตขึ้นคงสวยสะพรั่ง จะเลือกตัดสินใจดำเนินใช้ชีวิตต่อไปเช่นไร แต่การเล่าเรื่องจากอดีตไปอนาคตมันช่างคลาสสิกเฉิ่มเฉยไปเสียหน่อย เลยทำการย้อนกลับ เริ่มต้นจาก Taeko โตเป็นสาวทำงานแล้ว หวนระลึกความทรงจำสมัยวัยเด็กแทน (คือตอนครุ่นคิดเรื่องราวดำเนินไปข้างหน้า แต่พอเขียนบทกลายเป็นอนิเมชั่นกลับเล่าย้อนถึงอดีต)

รีวิว Only Yesterday (1991)

รีวิว Only Yesterday (1991)

ปี 1982, Taeko Okajima (ฉบับญี่ปุ่น พากย์เสียงโดย Miki Imai, ฉบับอังกฤษ พากย์เสียงโดย Daisy Ridley) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นวัย 27 ปี ลาพักร้อนออกเดินทางจาก Tokyo ไปใช้ชีวิตเกษตรกร เก็บดอกคำฝอย (Safflower) อยู่ที่จังหวัด Yamagata ช่วงเวลานี้เองที่ความทรงจำเมื่อครั้งสมัยอยู่ชั้นประถม ได้ผุดขึ้นมาหวนระลึกอย่างต่อเนื่อง

ปี 1966, เด็กหญิง Taeko วัย 10-11 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.5 ใกล้ถึงวัยมีประจำเดือน จึงเกิดความหวาดหวั่นวิตกกลัวตามประสาผู้หญิง ทำให้มีนิสัยขี้งอแง ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น อยากทำอะไรตามใจฉัน แต่เมื่อครอบครัวไม่อนุญาตเกิดเป็นความเก็บกดสะสม แม้ตอนนั้นจะยังไม่แสดงออก พอโตขึ้นเป็นอิสระไร้พันธนาการเมื่อไหร่ ใครจะพูดจาโน้มน้าวชักจูงก็ไม่สนอะไรทั้งนั้น

ต้องถือว่าโลกทัศน์ของ Taeko มีความแตกต่างจากเด็กทั่วไปในสังคมเมืองพอสมควร
– เริ่มจากความอิจฉาเพื่อนๆที่มีครอบครัวชนบท พอวันหยุดปิดเทอมก็มีโอกาสได้ไปพักร้อนตากอากาศ ขณะที่ญาติๆของตนเองปักหลักอาศัยอยู่ Tokyo โดยพร้อมหน้า ไม่ได้ไปไหนทั้งนั้น
– นี่สะท้อนเข้ากับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่เธอไม่เก่งคำนวณเอาเสียเลย นัยยะจุดนี้น่าจะคือการไม่ชอบอะไรที่ซับซ้อน สังคมเมืองมันวุ่นวาย ตรงกันข้ามกับชนบทที่เรียบง่าย
– ก็ด้วยเหตุนี้พอเติบโตขึ้นทำงาน อย่างที่นายจ้างถามถึง ก็คิดว่าหยุดหลายวันคงไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ในมุมมอง ‘ต่างประเทศ’ ของเธอ ก็คือหมู่บ้านชนบทนี่แหละ
– เสื้อที่ใส่ตอนโต ลายขวางแนวนอน … ก็นั่นสินะ กลายเป็นคนขวางโลกไปแล้ว, ส่วนกางเกง … สมัยนั้นต้องทอมบอยเท่านั้นกระมังถึงนิยมใส่กางเกง แต่รู้สึกว่าตอนโตจะไม่เห็นใส่กระโปรงสักครั้งเลยนะ

ก่อนหน้าเริ่มโปรดักชั่น ผู้กำกับ Takahata นำพาทีมงานออกทริปยังเขต Yamagata เพื่อสำรวจ เก็บภาพ พูดคุยกับชาวนาชื่อ Inoue ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจดอกคำฝอย ซึ่งก็มีทีมงานคนหนึ่งได้ร่ำเรียนเทคนิคการเก็บเกี่ยวด้วยมือเปล่าแบบตัวต่อตัว ว่ากันว่าตลอดโปรดักชั่นเกือบๆสองปี เขาก็ไม่ได้วาดอะไรอื่นเลยนอกจากเจ้าดอกไม้ชนิดนี้ สวยงามมากๆเลยะนะ (อย่างช็อตนี้ เห็นเหมือนดอกคำฝอยสะท้อนแสง แต่ถ้าสังเกตดีๆคือการแต้มสีขาวเข้าไป)

รีวิวอนิเมะออนไลน์

รีวิว Only Yesterday (1991)

ความรู้สึกหลังดู

ปกติแล้วอนิเมะทางฝั่งญี่ปุ่น มักใช้การพากย์เสียงภายหลังทำอนิเมชั่นเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่เรื่องนี้ใช้การบันทึกเสียงขึ้นก่อน (น่าจะเรื่องแรกของสตูดิโอ Ghibli เลยกระมัง) ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานสามารถวาดภาพการขยับปาก กล้ามเนื้อ ขณะสนทนา มีความสมจริงมากขึ้น แต่นั่นเฉพาะกับ Taeko ตอนโตเท่านั้นนะ ฉากที่เป็นตอนเด็กยังคงใช้วิธีเดิม บันทึกเสียงหลังโปรดักชั่นเสร็จสิ้นแล้ว

แต่มันก็มีข้อเสียที่ร้ายแรงมากๆประการหนึ่ง ที่ส่วนไม่ประทับใจเสียเลย นั่นคือเส้นตรงแก้ม เวลาตัวละครยิ้มแย้ม หรือทำสีหน้ามีเลศนัยบางอย่าง เจ้าเส้นนี้จะปรากฎขึ้นมา จริงอยู่มันอาจช่วยเพิ่มรายละเอียดการแสดงออก Expression ของใบหน้า แต่กลับดูฝืนธรรมชาติยังไงชอบกล

ดูอนิเมะออนไลน์

รีวิว Only Yesterday (1991)

ใครเคยรับชมผลงานของปรมาจารย์ผู้กำกับ Yasujirō Ozu น่าจะหวนระลึกถึงฉาก Opening Credit ที่นิยมใช้ผ้ากระสอบเป็นพื้นหลัง ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้คัทลอกเลียนแบบมาเปะๆเลย คงด้วยต้องการสื่อนัยยะถึงความธรรมดา เรื่องราวมีใจความบ้านๆ เกี่ยวกับชีวิตและครอบครัว

(จริงๆถือว่าเป็นอิทธิพล/ค่านิยมหนึ่งของภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นในยุคหลัง Ozu ที่ถ้าเรื่องไหนขึ้น Opening Credit ด้วยพื้นหลังผ้ากระสอบนี้ละก็ ต้องมีใจความสามัญเกี่ยวกับครอบครัวอย่างแน่นอน)

เกร็ด: Only Yesterday คืออนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอ Ghibli ที่ใช้โลโก้ Totoro

ความทรงจำถือเป็นสิ่งเลือนลาง ไม่มีทางที่ใครสักคนจะสามารถหวนระลึกจดจำได้ทุกรายละเอียดรอบข้าง นอกเสียจากบางสิ่งมีความสำคัญมากๆต่อจิตใจขณะนั้น มันจะเป็นสิ่งไม่รู้ลืม, วิธีการที่ผู้กำกับ Takahata นำเสนอออกมา ทุกฉากที่เป็นการย้อนอดีต จะมีลักษณะเหมือนภาพวาดเก่าๆ โทนสีอ่อนๆ ตัวละครมีเส้นขอบจางๆ ขอบข้างเบลอๆเฟดหายไป

รีวิว Only Yesterday (1991)

สำหรับผู้ใหญ่ ครอบครัวไหนที่พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ยังคงหัวโบราณเผด็จการ กีดกันปิดกั้น ไม่ฟังคำลูกหลาน ก็อยากให้รับรู้ว่าโลกสมัยนี้ได้หมุนเปลี่ยนเลยผ่านไปแล้วนะ นั่นเป็นแนวคิดที่เฉิ่มเฉยล้าสมัยตกยุค ทั้งยังปลูกฝังแนวคิดบางสิ่งอย่างให้กับลูกๆของพวกเขา, โตขึ้นหญิงสาวกลายเป็นคนแบบนั้น เข้าใจได้ไม่ยาก ก็อิทธิพลจากพ่อ-แม่ ผู้คนรอบตัวของเธอนะแหละ

กับชาว Slow Life ที่ชื่นชอบความพอเพียง หลงใหลในชนบท อาชีพเกษตรกรรมทั้งหลาย, ศิลปิน จิตรกร นักวาดภาพ งานศิลปะทุกแขนง,แฟนๆสตูดิโอ Ghibli และผู้กำกับ Isao Takahata ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรต 13+ เหมาะกับเด็กโตขึ้นมาสักนิด เพราะหลายๆประเด็นค่อนข้างตึงเครียด และมีความวัยรุ่นมากทีเดียว

รีวิวการ์ตูนอนิเมะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *