รีวิว The Iron Giant (1999)

 

ดีชั่วอยู่ที่ตัวเราเองจะเลือกตัดสินใจ เฉกเช่นเดียวกับเจ้าหุ่นยักษ์จากนอกโลก แม้ทั้งร่างกายคืออาวุธ มีพลานุภาพทำลายล้างมหาศาล แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ดี ย่อมก่อให้เกิดคุณประโยชน์อนันต์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

The Iron Giant คือภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ผมเคยหลงเข้าใจผิด คิดว่ามาจากฝั่งญี่ปุ่น เพราะตัวเอกหุ่นยักษ์ เห็นจากหน้าปกโปสเตอร์ก็คงประมาณ Gundam, Evangelion, Gurren Lagann ฯ (ดูจากรูปลักษณ์คล้าย The Big O มากกว่า) แต่ที่ไหนได้ โปรดักชั่นเรื่องนี้คือสตูดิโอ Warner Bros. ทางฝากฝั่งอเมริกัน ไม่ได้มีการอ้างอิงถึง หรือสร้างขึ้นเพื่อเคารพคารวะแนว Mecha ของญี่ปุ่นแม้แต่น้อย

จริงๆถ้าไม่เคยรับรู้อะไรมาก่อน ขณะเริ่มต้นรับชมก็น่าจะเกิดความเข้าใจได้ไม่ยาก พื้นหลังเมือง Rockwell, Maine การออกแบบศิลป์ อนิเมชั่น อะไรๆก็ดูอเมริกันสไตล์ไปเสียหมด และเรื่องราวพื้นหลังเอ่ยกล่าวถึงช่วงเวลาสงครามเย็น การแข่งขันแก่งแย่งชิงพื้นที่บนน่านฟ้าอวกาศ ระหว่างสหรัฐอเมริกันกับสหภาพโซเวียต ก็ไม่ได้มีความน่ารักโมเอะแบบญี่ปุ่นสักกะนิดเลย

ฟังดูอาจเป็นเรื่องราวที่หนักเกินเด็กไปเสียหน่อย แต่อนิเมะฝั่งอเมริกามักมีลักษณะประมาณนี้ นำเสนอเนื้อหาในเชิงวิพากย์จิกกัด สะท้อนเสียดสี ประชดประชัน และปลูกฝังแนวคิดทัศนคติบางอย่างต่อการใช้ชีวิต ซึ่งในมุมมองของเด็กๆ พวกเขาจะยังมองไม่เห็นสิ่งอื่นใดนอกจากความบันเทิง สนุกสนาน ข้อคิดสาระ แต่สำหรับผู้ใหญ่ มักทำให้เกิดอาการแสบๆคันๆ รวดร้าวทรมานใจทุกที เพราะมันช่างตรงกับประเด็นปัญหาสังคมนั้นๆอยู่ร่ำไป

รีวิวอนิเมะ

จุดเริ่มต้นของอนิเมชั่นเรื่องนี้ มาจากนิยาย Sci-Fi เรื่อง The Iron Man: A Children’s Story in Five Nights (1968) แต่งโดย Ted Hughes (1930 – 1998) กวี นักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก สัญชาติอังกฤษ เรื่องราวของหุ่นยักษ์จากต่างดาวตกลงมาสู่โลก แล้วกลายเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องจากศัตรูต่างดาว Space-Bat-Angel-Dragon ที่ต้องการมาจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ขึ้นบนโลก (ใจความ Anti-Wars)

เกร็ด: Hughes แต่งนิยายเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกๆของเขาได้อ่าน และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตหลังจากแม่/ภรรยาสุดที่รัก Sylvia Plath ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

เมื่อปี 1989 นักกีตาร์ Pete Townshend ร่วมกับวง Rock ของเขา The Who ทำการดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ให้กลายเป็น Rock Opera ตั้งชื่อว่า The Iron Man: A Musical เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ (นิตยสาร Rolling Stone ให้คะแนน 1/5) แต่ยอดขายถือว่าใช้ได้ ไม่นานนักไปเข้าตาสองโปรดิวเซอร์ Allison Abbate และ Des McAnuff แห่งสตูดิโอ Warner Bros. เล็งเห็นว่าสามารถต่อยอดให้กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นได้

ประมาณปี 1996 ระหว่างกำลังมองหาผู้กำกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ สตูดิโอเล็งเห็นวิสัยทัศน์ของหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรง Brad Bird ที่ขณะนั้นทำงานเป็นนักอนิเมเตอร์ให้สตูดิโอ Turner Feature Animation (ที่ WB เพิ่งเข้าควบกิจการ) เลยดึงตัวมายัง Warner Bros. Animation เพื่อให้กำกับอนิเมะขนาดยาวเรื่องแรก

Phillip Bradley Bird (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ นักเขียน นักอนิเมเตอร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Kalispell, Montana, ตอนอายุ 11 มีโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษายัง Walt Disney Studios เกิดความสนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งทำงานสายนี้ ใช้เวลาสองปีเต็มถัดจากนั้นหัดวาดภาพอนิเมะขนาดสั้นความยาว 15 นาที ส่งไปให้สตูดิโอ Disney ได้รับการเรียกตัวจาก Milt Kahl (หนึ่งในเก้า นักอนิเมเตอร์รุ่นแรกในตำนานของ Walt Disney) มาสั่งสอนกลายเป็นลูกศิษย์ โตขึ้นได้รับทุนการศึกษา (ก็จาก Disney นะแหละ) เข้าเรียน California Institute of the Arts รู้จักสนิทสนมกับ John Lasseter ภายหลังร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ PIXAR

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น Bird เรียนจบออกมา ได้ทำงานกับสตูดิโอ Disney เป็นนักอนิเมเตอร์เรื่อง The Fox and the Hound (1981) ก็ไม่รู้เกิดความขัดแย้งอะไรขึ้นหลังจากนั้น ลาออกไปเข้าร่วมสตูดิโอ Klasky Csupo ตามด้วย Turner Feature Animation กำกับ/เขียนบท/วาด อนิเมะฉายโทรทัศน์หลายเรื่อง อาทิ Family Dog, The Simpsons ฯ จนไปเข้าตาสตูดิโอ Warner Bros. จึงถูกซื้อควบกิจการ และดึงตัว Bird มุ่งสู่ Hollywood

หลังจาก Bird อ่านหนังสือต้นฉบับ The Iron Man เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวด ในตอนแรกต้องการดัดแปลงเขียนบทด้วยตนเอง วางพล็อตเรื่องคร่าวๆคือ อเมริกากับสหภาพโซเวียต ทำสงครามกำลังใกล้ถึงจุดแตกหักสิ้นสุด ซึ่งการมาถึงของหุ่นยักษ์ต่างดาวที่กำลังใกล้ตาย ได้ช่วยให้ความขัดแย้งรุนแรงนี้ยุติลง, แต่สตูดิโอ WB ตัดหน้าว่าจ้าง Tim McCanlies ไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่เป็นที่พึงพอใจนักแต่เมื่อได้อ่านบทคร่าวๆดังกล่าว เกิดความรู้สึกพึงพอใจมากยิ่งกว่า แต่ก็ได้ต่อรองคงใจความสำคัญที่เจ้าตัวอยากนำเสนอคือ

รีวิว The Iron Giant (1999)

นี่ทำให้ความตั้งใจของ WB ที่จะสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้จากฉบับ Rock Opera ก็ล่มสลายลงโดยพลัน

เกร็ด: หลังจากพัฒนาบทเสร็จสิ้น McCanlies ได้ส่งจดหมายแนบให้ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ Ted Hughes ที่ได้ตอบกลับด้วยความชื่นชอบประทับใจอย่างยิ่ง น่าเสียดายเจ้าตัวไม่ทันมีโอกาสได้รับชม เพราะเสียชีวิตลงก่อนสร้างอนิเมะเสร็จสิ้น

ไม่นานนักหลังจากสหภาพโซเวียตทำการปล่อย Sputnik 1 ดาวเทียมอวกาศดวงแรกของโลกขึ้นสู่ฟากฟ้าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1957 (พ.ศ. ๒๕๐๐) มีวัตถุจากอวกาศตกลงหล่นสู่โลก บริเวณใกล้ๆเมือง Rockwell, Maine,

เรื่องราวของเด็กชายวัย 9 ขวบ Hogarth Huges (พากย์เสียงโดย Eli Marienthal) ด้วยความใคร่สงสัยอยากรู้ เมื่อพบเห็นความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น ออกเดิสำรวจจนพบความจริงเกี่ยวกับวัตถุนอกโลกนั้น แท้จริงคือหุ่นยนต์เหล็กยักษ์ Iron Giant (พากย์เสียงโดย Vin Diesel)

ที่พยายามหาอาหารเศษเหล็กรับประทานเป็นพลังงานเลี้ยงชีพ ไปๆมาๆพวกเขากลายเป็นเพื่อนสนิท สามารถพูดคุยสื่อสารกันพอเข้าใจ แต่เมื่อเรื่องไปเข้าหูหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ นำโดยเจ้าหน้าที่ Kent Mansley (พากย์เสียงโดย Christopher McDonald) หลังจากได้หลักฐานเป็นรูปถ่ายยืนยัน ติดต่อกองทัพเพื่อหาวิธีทำลายล้างหุ่นยนต์ตนนี้ เพราะคิดว่าถ้ามันไม่ใช่มิตรก็ต้องเป็นศัตรู

Hogarth Huges เป็นเด็กชายผู้โดดเดี่ยวอ้างว้าง ไร้เพื่อน (ด้วยเหตุนี้กระมัง เลยอยากได้สัตว์เลี้ยง) อาศัยอยู่กับแม่ที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักจนแทบไม่มีเวลาให้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความหัวขบถ ดื้อรั้น สั่งให้ทำอะไรก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อฟัง, การได้พบเจอ Iron Giant ราวกับรู้จักเพื่อนใหม่ เปิดโลกทัศน์ความคิดของตนเอง ค่อยๆเติบโตขึ้นทีละเล็กน้อย และจำเป็นต้องแสดงออกซึ่งตัวตนแท้จริง อยากเติบโตขึ้นเป็นคนดี ทำอะไรด้วยความเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยไม่สนสิ่งตอบแทน

รีวิวอนิเมะออนไลน์

รีวิว The Iron Giant (1999)

ความรู้สึกหลังดู

Iron Giant หุ่นยักษ์จากนอกโลก มีสติปัญญา ความสามารถในเรียนรู้ พูดคุยสื่อสารได้ (แต่ต้องเรียนรู้ทีละเล็กละน้อย) กินเหล็กเป็นอาหาร ซ่อมแซมตัวเองโดยอัตโนมัติ แต่ทุกครั้งเมื่อเห็นอาวุธปืน ก็จะเสียสติตาแดงกล่ำ แปลงร่างตอบโตด้วยความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

เกร็ด: ผู้กำกับ Brad Bird ต้องการนักพากย์ที่นุ่มลึก กึกก้อง (เหมือนเสียงก๊องแก๊งของโลหะ) นึกได้เพียงคนเดียวคือ Vin Diesel มีบทพูดทั้งหมด 53 คำ (ก็ยังมากกว่า I am Groot!)

Kent Mansley เจ้าหน้าที่หน่วย… อะไรสักอย่างของรัฐบาล เป็นคนขี้หวาดระแวง ขลาดเขลา กลัวเกรง ดีแค่พูดแต่พอเอาเข้าจริงก็เผ่นแนบหน้าตั้ง ไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจ พึ่งพาได้เลยสักอย่าง

Annie Hughes (พากย์เสียงโดย Jennifer Aniston) หม้ายยังสาวที่สูญเสียสามีที่เป็นนักบิน ทำให้อาศัยอยู่กับลูกชาย Hogarth ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟหลายกะ ทั้งนี้เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูจุนเจือ ไม่ค่อยมีเวลาให้ความสนใจลูกนัก แต่ก็ยังรักเป็นห่วงใย แทบคลั่งตายเมื่อไม่พบเจอเขาที่ห้องนอน

Dean McCoppin (พากย์เสียงโดย Harry Connick, Jr.) เจ้าของสุสานขยะ เป็นตัวแทนของ Beatnik ในยุค Beat Generation มีความปลิ้นปล้อนกลับกลอก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาจริงๆก็พึ่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่เพราะได้รับการไหว้วานร้องขอจาก Hogarth ให้เฝ้าดูแล Iron Giant ทีแรกไม่เต็มใจ แต่ทีหลังกลับเป็นใจ สุดท้ายแล้วตอนจบเหมือนว่าได้ครองรักกับ Annie Hughes คิดว่าจะไปกันรอดหรือนี่!

ดูอนิเมะออนไลน์

รีวิว The Iron Giant (1999)

ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Iron Giant ได้รับการวิเคราะห์ว่าเกิดจากการตลาดที่ล้มเหลวของ Warner Bros. เพราะสตูดิโอไม่คาดคิดหวังว่าอนิเมะจะประสบความสำเร็จ เลยไม่อยากสิ้นเปลืองงบประมาณกับการวางแผนโปรโมทสักเท่าไหร่

แต่เมื่อเสียงตอบรับจากรอบทดลองฉายดีล้นหลาม แทนที่จะเลื่อนโปรแกรมออกไปสักหน่อยเพื่อเพิ่มเวลาโปรโมท กลับยังคงฉายกำหนดเดิมซึ่งกระชั้นชิดเกินไป มีเพียงโปสเตอร์หนึ่งใบ และตัวอย่างหนังฉายในโรง (ไม่มีสป็อตโฆษณา ไม่มี Tie-In กับบริษัทอื่น) นี่กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของ WB เลยละ

รีวิว The Iron Giant (1999)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบอนิเมะเรื่องนี้ ในใจความสะท้อนเสียดสีสังคม ค่านิยมอเมริกันชนได้อย่างเจ็บแสบ แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบเสียเลย คือความเป็นอเมริกันสไตล์ โดยเฉพาะการออกแบบตัวละคร เด็กผู้ชายมักมีลักษณะ หัวขบถ ดื้อรั้น ก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ ภาพลักษณ์กวนบาทา แต่ลึกๆแล้วเป็นคนดี จิตใจงาม พึ่งพิงพาได้เสมอ (คือมันเป็นทั้งการปลูกฝังให้เด็กๆหลงใหลเลียนแบบทำตาม ซึ่งมันก็สะท้อนตัวตนคนอเมริกันออกมาด้วย)

กระนั้นอนิเมะยังคงควรค่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะสิ่งสำคัญสุดในชีวิตคือ ‘การเป็นตัวของตนเอง’ เมื่อใดเติบโตขึ้นเป็นผู้มีสติรู้ สามารถแยกแยะดีชั่วออกจากกันได้ ก็อยู่ที่ตัวเราจะเลือกตัดสินใจกระทำเช่นไร

แนะนำคออนิเมชั่นฝั่ง Hollywood หลงใหลในหุ่นยนต์, ชื่นชอบเรื่องราวแฝงข้อคิดการใช้ชีวิตดีๆ สะท้อนเสียดสีสังคม พื้นหลังยุคสมัยสงครามเย็น, แฟนๆผู้กำกับ Brad Bird ไม่ควรพลาด

รีวิวการ์ตูนอนิเมะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *